รีเซต

นำคณะทูตลงพื้นที่ สำรวจกระบวนการผลิต อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวไทย

นำคณะทูตลงพื้นที่ สำรวจกระบวนการผลิต อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวไทย
มติชน
3 สิงหาคม 2563 ( 05:37 )
166

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฎข่าวที่กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยคือข่าวที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่คลิปที่ระบุว่าเป็นการนำลิงมาใช้เก็บมะพร้าวเพื่อป้อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทย โดยระบุว่าลิงกังในไทยถูกปฏิบัติไม่ต่างจากเครื่องจักรเก็บมะพร้าว ที่ต้องเก็บมะพร้าวให้ได้ถึง 1,000 ลูกต่อวัน และมีบริษัทไทย 8 แห่งที่บังคับใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวเพื่อส่งออกไปทั่วโลก

 

ในเวลาต่อมาพีต้าได้ระบุว่ามีหลายประเทศที่ได้ประกาศยุติการวางขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวซึ่งใช้ลิงเก็บของไทยออกจากชั้นวางสินค้า ทั้งในอังกฤษ สหรัฐ และเนเธอร์แลนด์ โดยพีต้าบอกว่า เจ้าหน้าที่ของพีต้าประจำเอเชียได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนสอนลิงเก็บมะพร้าว 4 แห่ง สวนมะพร้าว 8 แห่ง และการแข่งขันลิงเก็บมะพร้าว 1 ครั้ง ก่อนที่จะสรุปว่าลิงเหล่านี้ถูกบังคับให้ขึ้นไปเก็บมะพร้าว และถูกเลี้ยงโดยล่ามเอาไว้ ซึ่งอิงกริด นิวเคิร์ก ประธานองคกรพีต้า สรุปว่า พีต้าเชื่อว่ามะพร้าวแทบทั้งหมดจากประเทศไทยถูกเก็บโดยลิงที่ถูกทรมาน พร้อมกับเรียกร้องให้คนซื้อมะพร้าวจากแหล่งอื่น

 

ข้อกล่าวหาที่พีต้าระบุเมื่อรวมกับสิ่งที่พีต้าอ้างว่าเป็นประจักษ์พยานที่สะท้อนภาพรวมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวไทยทั้งระบบ ดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่น้ำหนักของหลักฐานช่างบางเบาอย่างยิ่ง แน่นอนว่าเราไม่อาจปฏิเสธได้ทั้งหมดว่าในประเทศไทยไม่มีการใช้แรงงานสัตว์อย่างทารุณ แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการยกระดับมาตรฐานการดูแลสัตว์ให้ดีขึ้น ทั้งยังมีการออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ปีพ.ศ. 2557 เพื่อมาช่วยดูแลในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

 

กระนั้นก็ดีเมื่อเกิดข้อกล่าวหาในลักษณะนี้ขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยโดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ก็ได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ข้อเท็จจริงกับผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้ามะพร้าวจากไทยทันที โดย นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยให้เร่งสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศในกรณีนี้ สถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งได้รายงานความคืบหน้าเข้ามา อาทิ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงบริษัทนำเข้ารายใหญ่ในสหรัฐ เช่น Publix และ Cost Plus World Market โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศทุกแห่งในสหรัฐ ได้ชี้แจงข้อมูลกับผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายในเครือข่ายทั่วประเทศไปพร้อมกัน ด้านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับบริษัทค้าปลีก และบริษัทนำเข้ารายใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท Thai Mas ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกะทิ Aroy-D รายใหญ่ เช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับองค์กร World Animal Protection ในเดนมาร์ก เป็นต้น ซึ่งการเร่งให้ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการในตลาดสำคัญของสินค้าจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยได้รับข้อมูลอีกด้าน และมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปได้นำผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสื่อมวลชน และสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ซึ่งเป็นผู้แทนในส่วนภาคประชาสังคม ลงพื้นที่สังเกตการณ์กระบวนการผลิตกะทิ ตั้งแต่วิธีการเก็บมะพร้าวที่สวนมะพร้าว สถานแปรรูปเบื้องต้น และโรงงานของบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว และของบริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ ในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่ถูกกล่าวหา คือกะทิแบรนด์ชาวเกาะและอร่อยดี เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการผลิตกะทิทุกขั้นตอน

 

บ.เทพผดุงพรมะพร้าวได้บรรยายสรุปแนวทางหลักในการดำเนินงาน 4 ประการของบริษัทต่อผู้แทนคณะทูตว่า 1. บริษัทได้ลงนามความตกลงกับชาวส่วนมะพร้าว(เอ็มโอู)ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ว่าบริษัทจะไม่รับมะพร้าวที่ได้จากแรงงานสัตว์ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าไม่มีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในกระบวนการผลิตของบริษัท

 

2. ในประเด็นการรักษามาตรฐานตามหลักจริยธรรม บริษัทได้จัดส่งทีมสำรวจพื้นที่สวนมะพร้าวเพื่อให้มั่นใจถึงวิธีการจัดเก็บผลมะพร้าว คุณภาพผลมะพร้าวที่จัดเก็บ การจัดการสวน และขนาดของต้นมะพร้าว รวมทั้งการไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการในพื้นที่ ในฐานะบุคคลที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมเข้าร่วมสำรวจด้วย และเมื่อผ่านการสำรวจ สำนักงานเกษตรจังหวัดจะออกหนังสือรับรองให้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการสุ่มสำรวจพื้นที่สวนมะพร้าวที่เป็นผู้ผลิตมะพร้าวส่ง บ. เทพผดุงพรมะพร้าว แล้วใน 3 จังหวัด จากทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 96 แห่ง จ.สมุทรสงคราม 21 แห่ง และ จ.ราชบุรี 7 แห่ง ในขณะที่จ.นครศรีธรรมราช และ จ.นราธิวาส จะถูกสำรวจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

3. การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ปัจจุบันบริษัทมีระบบที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของมะพร้าวได้อยู่แล้ว โดยสามารถที่จะระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่มะพร้าวที่ใช้ผลิตกะทิในช่วงนั้นๆ อาทิ วันที่รับมะพร้าว จำนวน ชื่อสวนมะพร้าว ชื่อเจ้าของสวน การขนส่งในวันดังกล่าว ทั้งนี้บ.เทพผดุงพรมะพร้าว วางแผนที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคด้วยการทำระบบตรวจสอบย้อนกลับบนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเช็คแหล่งที่มาของวัตถุดิบในทุกขั้นตอน ในรูปแบบ from farm to table อีกด้วย

 

และ 4. ได้มีการพัฒนาพันธุ์มะพร้าวที่มีลำต้นเตี้ย โดยบริษัทได้มีการพัฒนาพันธุ์มะพร้าวที่มีลำต้นเตี้ยมาอย่างต่อเนื่องและได้มอบพันธุ์มะพร้าวดังกล่าวให้กับเกษตรกรกว่า 250,000 ต้น ตั้งแต่ปี 2553 รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูก ดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

 

 

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารแปรรูป ยังได้ขึ้นมากล่าวเพื่อให้คำมั่นกับผู้บริโภคผ่านคณะทูตและสื่อมวลชนที่มาร่วมรับฟังการบรรยายว่า สมาชิกของสมาคมจะมุ่งให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยทางอาหารและคุณภาพอาหาร รวมถึงเร่งจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับแบบครบวงจรสำหรับผู้บริโภค เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้มะพร้าวพันธุ์เตี้ยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาอุปกรณ์เก็บมะพร้าวที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อจบการบรรยาย ผู้แทนคณะทูตได้กล่าวขอบคุณที่ได้จัดการบรรยายสรุปในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยเป็นอย่างมาก ผู้แทนคณะทูตยังได้ร่วมสำรวจพื้นที่โรงงานของบ. เทพผดุงพรมะพร้าว ในขั้นตอนการรับผลมะพร้าวจากสวนมะพร้าว ระบบการจัดเก็บผลมะพร้าว ระบบการจัดเก็บข้อมูล และการจัดเก็บผลิภัณฑ์จากมะพร้าว ซึ่งเห็นพ้องกันว่าบ เทพผดุงพรมะพร้าวมีขนาดที่ใหญ่มาก โดยโกดังแห่งเดียวของบริษัทสามารถจัดเก็บผลมะพร้าวได้ถึงหนึ่งล้านลูก คณะทูตได้แสดงความสนใจที่จะเห็นกระบวนการผลิตกะทิของ บ.เทพผดุงพรมะพร้าว ก่อนจะเดินทางไปยังสวนมะพร้าวในจ.สมุทรสงคราม ซึ่งไม่ได้อยู่ในกำหนดการ แต่ผู้บริหารบริษัทก็ยินดี และได้จัดให้ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ เข้าชมในทันที

 

ในการลงพื้นที่สำรวจสวนมะพร้าวที่จ.สมุทรสงคราม คณะทูตได้เรียนรู้วิธีการจัดเก็บมะพร้าวจากต้นโดยใช้ไม้สอยด้วยแรงงานคน ซึ่งสามารถจัดเก็บมะพร้าวได้ครั้งละหลายลูก เป็นข้อพิสูจน์ว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อปริมาณมะพร้าวที่ใช้ในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงเห็นระบบการเก็บผลมะพร้าวที่ถูกสอยลงมาแล้วด้วยแรงงานคน ตลอดจนการขนส่งไปยังโรงงานแปรรูปขั้นต้นที่อยู่ใกล้กับพื้นที่สวนต่อไป

 

การจัดการลงพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการเชิงรุก เพื่อให้คณะทูตได้ลงไปสัมผัสและเห็นภาพที่แท้จริงในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวไทยด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจต่อประเด็นดังกล่าวให้ดีขึ้น แต่แน่นอนว่าการเดินหน้าให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ยังคงเป็นงานที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป ตราบใดที่ข้อกล่าวหาเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นโดยผู้ที่กล่าวหาไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนแต่อย่างใด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง