"เกาหลีใต้" เสนอลงทุนแสนล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ หวังปิดดีล "ภาษีทรัมป์" ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า "โฮเวิร์ด ลุตนิก" รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ และ"คิม จอง-กวาน" รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ในระหว่างการประชุมที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันพฤหัสบดี (24 กรกฎาคม 2568) ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันว่าความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตของทั้งสองประเทศจะช่วยสนับสนุนข้อตกลงในการลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่จะเรียกเก็บจากเกาหลีใต้ได้อย่างไร
โดยฝ่ายเกาหลีใต้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดอุปสรรคทางการค้า และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในภาคการผลิต พร้อมเดินหน้าเจรจาต่อเนื่อง ท่ามกลางความพยายามอย่างหนักของทางเกาหลีใต้ที่จะบรรลุข้อตกลง ซึ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวว่าอยู่ใน "ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ"
การพบปะครั้งมีขึ้นหลังจากทางการสหรัฐฯ ได้ขอเลื่อนการเจรจาการค้าแบบ "2+2" ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในวันนี้ (25 กรกฎาคม 2568) เนื่องจาก "สก็อตต์ เบสเซนต์" รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ติดภารกิจอื่น โดยกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะกำหนดวันหารือกันใหม่ระหว่าง"เบสเซนต์"กับ"คู ยุน-ชอล" รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ รวมถึงผู้แทนการค้าระดับสูงของทั้งสองประเทศโดยเร็วที่สุด
เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการประชุมดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งเจรจา และหลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บก่อนหน้านี้ และจะถึงเส้นตายหรือมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน เพื่อเปิดทางให้เงินทุนจากเกาหลีใต้ไหลเข้าสู่โครงการต่าง ๆ ในสหรัฐฯ โดยสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า รัฐบาลเตรียมเสนอแผนลงทุนในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ซัมซุง กรุ๊ป (Samsung Group), เอสเค กรุ๊ป (SK Group), ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป (Hyundai Motor Group) และแอลจี กรุ๊ป (LG Group)
อย่างไรก็ดี กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้นำการเจรจาการค้าครั้งนี้ ปฏิเสธที่จะยืนยันรายละเอียดของแผนการลงทุนดังกล่าว พร้อมขอให้สื่อใช้ความระมัดระวังในการรายงานเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวในระหว่างการเจรจา
ขณะที่ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นได้บรรลุดีลการค้ากับสหรัฐฯ โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวได้เปิดทางให้ผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ เข้าถึงตลาดในประเทศได้มากขึ้น รวมถึงรถยนต์และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางประเภท พร้อมกับคำมั่นสัญญว่าญี่ปุ่นจะลงทุนให้สหรัฐฯถึง 550,000 ล้านดอลลาร์ และความเคลื่อนไหวนี้ได้กลายเป็นแรงกดดันต่อเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแข่งขันกันในด้านต่างๆ เช่น ยานยนต์และเหล็กกล้า และข้อตกลงของญี่ปุ่นถูกมองโดยนักลงทุนว่าเป็นมาตรฐานสำหรับข้อตกลงประเภทที่รัฐบาลโซลควรให้ความสำคัญในการเจรจา
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
