TIGER เปิดช่องลงทุน ใส่เกียร์ชิงงาน2พันล.
ทันหุ้น – สู้โควิด - TIGER เล็งลงทุนธุรกิจอื่นเพิ่มช่องทางทำเงิน ใส่เกียร์ประมูลงานใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกว่า 2 พันล้านบาท ชูกลยุทธ์เบนเข็มรับงานภาครัฐ รักษากระแสเงินสดในมือ โชว์แบ็กล็อกปัจจุบันทำสถิติสุงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,792 ล้านบาท เตรียมรับรู้รายได้ปีนี้ 500 ล้านบาท ที่เหลือปีหน้า
นายจตุรงค์ ศรีกุลเรืองโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TIGER เปิดเผยว่า กลยุทธ์ของบริษัทในการรับมือโควิด-19ในการบริหารจัดการธุรกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเร่งส่งมอบงานที่มีอยู่ในมือให้เป็นไปตามกำหนด และดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอรวมถึงรักษากระแสเงินสดในมือ มุ่งรับงานภาครัฐบาลและงานร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนมากขึ้น เนื่องจากยังมีช่องทางการเติบโตที่ดี
นอกจากนี้ยังมุ่งรับงานใหม่ที่เป็นงานขนาดเล็ก ระยะเวลาสั้นอัตรากำไรดี และควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกประเภท นอกจากนี้บริษัทยังมองหาช่องทางการลงทุนในธุรกิจอื่น เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทอีกด้วย
***เตรียมประมูลงาน
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีบริษัทเตรียมประมูลงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเพิ่มอีกประมาณ 6-7 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถสรุปได้ในปีนี้ประมาณ 3-4โครงการ ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2563บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) รวมอยู่ที่ 1,792 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่างานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 30% หรือ 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 2564อีกประมาณ 1,223.68 ล้านบาท
ส่วนรายได้รวมปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,026.63 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 992.29 ล้านบาท โดยโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท ณ สิ้นปี 2562 แบ่งออกเป็น 1) ส่วนงานรับเหมาก่อสร้างโครงการทุกประเภทและงานออกแบบ โครงการประเภทโรงแรม รีสอร์ท โครงการ 26.36% คอนโดมิเนียมแนวราบ อาคารสํานักงาน และอาคารอื่นๆ17.40% โครงการสาธารณูปโภค และกลุ่มงานภาครัฐ 33.86% โครงการก่อสร้างและงานอื่นๆ 5.92% โครงการจัดหาและติดตั้งระบบสําหรับการประชุมสัมนา6.60%
2) ส่วนงานสนับสนุนการก่อสร้าง และจําหน่ายวัสดุก่อสร้าง อาทิ จําหน่ายและติดตั้งระบบและผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม โครงการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและระบบบำบัดน้ำ 9.86% หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้จะมาจากภาครัฐ 79.16% และงานภาคเอกชน 20.84%
***ภาพรวมอุตสาหกรรม
สำหรับมุมมองต่อภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างภาคเอกชน ในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19มีแนวโน้มลดลงในอัตรา 7% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีเรื่องอุปสงค์ในการก่อสร้างโดยเฉพาะภาคเอกชน ที่มีแนวโน้มลดลงจากคำสั่งซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากความกังวลเรื่องโรคระบาด รวมถึงขอจำกัดเรื่องเวลา การทำงานการขนส่งและการจัดหาวัดสดุก่อสร้างที่มีโอกาสล่าช้าจากการล็อกดาวน์และมาตรการเคอร์ฟิว และการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น
ขณะที่ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากสถานการณ์โควิด-19ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในต่างประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมโรงแรมปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้โครงการใหม่ชะลอการก่อสร้างออกไป
ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสถานการณ์โควิด-19เนื่องจากยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกกะโปรเจคต์คมนาคม โครงการจากกรมทางหลวง กรมชลประทาน การไฟฟ้า และกรมโยธาธิการและผังเมือง ขณะที่การโอนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐไปเป็นงบกลางเพื่อรับมือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่องบประมาณการก่อสร้างของโครงการภาครัฐเพียงเล็กน้อย