เอกชนลงพื้นที่ตรวจสภาพรถ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประสิทธิภาพยัง100% พร้อมรับช่วงต่องานไม่สะดุด
บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน หน่วยงานที่กำกับดูแลโครงการ รถไฟความเร็วสุงเชื่อม 3 สนามบิน เมกะโปรเจคสำคัญของประเทศที่ภาครัฐร่วมผลักดันให้การดำเนินงานเกิดความต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการ ก็คือการรับช่วงบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งมีกำหนดในการเข้าบริหารงานต่อจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท ที่ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาร่วม 10 ปี ในช่วงเดือน ตุลาคม 2564 นี้
ล่าสุดบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินได้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับช่วงบริหารงาน โดยในอันดับแรกทางบริษัท ได้ว่าจ้างบริษัท ซีเมนต์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้ารุ่น Siemens Desiro UK Class 360/2 ที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ได้ให้บริการอยู่ จำนวน 9 ขบวน ทำการตรวจสอบขบวนรถอย่างละเอียด เพื่อเป็นการตรวจเช็กและควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัย ทั้งระบบภายในและภายนอกของรถไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุมด้านความปลอดภัยการเดินรถ และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการให้บริการของผู้โดยสาร
ซึ่งในขั้นตอนของการตรวจสอบ จะรวมทั้งการเช็คช่วงล่าง อาทิ หม้อแปลงที่เป็นแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อนตัวรถ และระบบไฟภายในขบวนรถทั้งหมด เก็บตัวอย่างของเหลวหรือน้ำมันหล่อลื่น เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจดูโมเลกุล และสิ่งปนเปื้อนในน้ำมัน การตรวจเช็คการสึกหรอของล้อ การตรวจระบบเบรค
การตรวจเช็คภายในขบวนรถ เช่น ระบบประตู และการใช้งานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ปุ่ม อุปกรณ์ฉุกเฉินภายในรถ ระบบแอร์ เป็นต้น
รวมไปถึง่ระบบติดตั้งต่างๆของส่วนบนขบวนรถ อย่างเช่น ระบบจ่ายไฟบนหลังคา ตรวจเช็คท่อลม และเพนโทกราฟ ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร หากมีการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่กำหนด
โดยฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ได้ให้ข้อมูลว่า การซ่อมบำรุงขบวนรถในปัจจุบันได้มีการดำเนินงานตามคู่มือและการฝึกอบรมในช่วงที่รับมอบขบวนรถ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการบำรุงรักษาตั้งแต่การตรวจสอบประจำวันก่อนที่ขบวนจะออกให้บริการ มีการตรวจเช็คอุปกรณ์ตามรอบ ทั้งรายสัปดาห์ ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน รายปี และสุดท้าย overhaul หรือการซ่อมบำรุงใหญ่ ทุกๆ 1,200,000 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่การ overhaul รอบที่ 2 ระยะทางที่วิ่งให้บริการไปแล้วกว่า 2,400,000 กิโลเมตร
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระยะวิ่งค่อนข้างสูงนั้น เนื่องมาจากการที่มีรถเพียง 9 ขบวน อีกทั้งจากปกติจะแบ่งเป็น City Line 5 ขบวนและ Express Line 4 ขบวน แต่ปัจจุบันได้ปรับรูปแบบการให้บริการเหลือเพียงระบบ City Line เนื่องจากความต้องการของผู้โดยสาร(ช่วงก่อนที่จะมีสถานกาณณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ) มีเพิ่มขึ้น จึงต้องปรับมาวิ่งให้บริการกับผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องทุกวัน วันละ 700 กิโลเมตรต่อขบวน ซึ่งเต็มศักยภาพของการให้บริการของขบวนรถ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน หรือเฉลี่ยไม่เกิน 10 นาที ต่อ 1 ขบวน
ขณะที่ในเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญจากซีเมนต์ ได้ตรวจเช็คระบบต่างๆของขบวนรถไปแล้วบางส่วน จากทั้งหมด 9 ขบวน พบว่า ขบวนรถอยู่ในสภาพดี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และในแต่ละขบวนที่ตรวจเช็กยังพร้อมใช้งานได้ปกติ ปลอดภัย สะท้อนได้ว่าบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและปฏิบัติตามขั้นตอนการบำรุงรักษาได้เป็นอย่างดี ถูกต้องตามมาตรฐานของบริษัท ขณะเดียวกันยังไม่พบจุดใดที่น่ากังวลหรือน่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชียวชาญจากซีเมนต์ ยังต้องมีการตรวจเช็กการทำงานและสภาพของตัวรถส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตามคู่มือมาตรฐานของเทคโนโลยีรถรุ่นนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมให้เจ้าหน้าที่จาก บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ได้เข้าไปศึกษาดูงาน พร้อมที่จะรับมอบงานต่อ ตลอดจนสามารถนำไปปรับปรุงให้สอดรับกับการบริหารงานของบริษัท โดยเฉพาะการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่งๆขึ้นไปเพื่อนำไปสู่การเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังคงเน้นการให้บริการและอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางของประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสบาย และความปลอดภัยสูงสุด