อิสราเอลส่ง 'ดาวเทียมจิ๋ว' สู่อวกาศ หนุนภารกิจตรวจวัดรังสีคอสมิก
เยรูซาเล็ม, 22 ก.พ. (ซินหัว) -- เมื่อวันอาทิตย์ (21 ก.พ.) มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (TAU) ของอิสราเอล เปิดเผยว่าอิสราเอลได้ส่งดาวเทียมขนาดเล็กชื่อทีเอยู-เอสเอที1 (TAU-SAT1) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ถูกออกแบบ ประกอบชิ้นส่วน และทดสอบในมหาวิทยาลัยฯ จากฐานปล่อยขององค์การนาซาในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ (20 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่นอิสราเอล
ดาวเทียมขนาดเล็กดวงดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ตรวจวัดรังสีคอสมิกรอบโลกและจัดเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้วยเครื่องตรวจจับ ซึ่งพัฒนาที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์โซเรคของอิสราเอล (SNRC) โดยข้อมูลนี้จะช่วยออกแบบอุปกรณ์ป้องกันรังสีในอวกาศที่มีต้นกำเนิดจากดวงอาทิตย์ที่ดียิ่งขึ้นสำหรับนักบินอวกาศและระบบอวกาศ
ดาวเทียมทีเอยู-เอสเอที1 ซึ่งมีขนาด 10 คูณ 10 คูณ 30 เซนติเมตร และน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม จะโคจรรอบโลกด้วยความเร็ว 27,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และโคจรรอบโลกจบหนึ่งรอบในทุกๆ 90 นาที
มหาวิทยาลัยฯ เสร็จสิ้นการก่อสร้างดาวเทียมดวงนี้เมื่อราว 4 เดือนก่อน และส่งดาวเทียมไปยังองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เพื่อทดสอบก่อนปล่อยขึ้นสู่อวกาศ โดยคาดว่าดาวเทียมทีเอยู-เอสเอที1 จะอยู่ในอวกาศนานหลายเดือน และทำหน้าที่เป็นสถานีอวกาศตัวกลางสำหรับชุมชนวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกอีกด้วย