รีเซต

TSE ขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น เตรียมลุยประมูล กกพ. รอบ 2 วางเป้าคว้าไม่ต่ำกว่า 100 MW

TSE ขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น เตรียมลุยประมูล กกพ. รอบ 2 วางเป้าคว้าไม่ต่ำกว่า 100 MW
ทันหุ้น
28 ธันวาคม 2566 ( 10:57 )
46

#TSE #ทันหุ้น-บอร์ด TSE อนุมัติขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น กำลังการผลิตเสนอขายรวม 133 MWac คาดปิดดีลได้ภายในสิ้นปี 66 รับรู้รายได้ทันที เตรียมนำเงินลงทุนโปรเจคใหม่ สร้างโอกาสเติบโต (New S-Curve) ผู้บริหาร ระบุพร้อมลุยประมูลกกพ. รอบ 2 ตั้งเป้าได้งานไม่ต่ำกว่า 100 MWac

 

ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ได้มีอนุมัติให้ Onikoube Solar Power PTE. LTD. (OSP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ จำหน่ายสัดส่วนการลงทุน 100% ในบริษัท PurpleSol G.K. (PPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OSP ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตเสนอขาย 133.63 เมกะวัตต์ “โครงการโอนิโกเบ (Onikoube)” ให้แก่บริษัท Amun Godo Kaisha (“Amun GK”) ซึ่งมิใช่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ มูลค่าการขายประมาณ 13,915 ล้านเยน หรือคิดเป็น 3,434 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2566 เท่ากับ 1 เยน : 0.2468 บาท) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการขายครั้งนี้ต่อยอดลงทุนในโครงการอื่นๆ ในอนาคต เพื่อให้เป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ

 

“บริษัทฯ ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท Amun Godo Kaisha (“Amun GK”) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และคาดว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะสำเร็จภายในปี 2566 สำหรับเงินทุนที่ได้บริษัทฯ วางแผนจะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ, ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และสำรองเป็นเงินลงทุนในโครงการใหม่ในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” ดร.แคทลีน กล่าว

 

ภายหลังการเสนอขายโครงการโอนิโกเบ จะเป็นผลให้ TSE มีกำลังการผลิตเสนอขายรวม 241.86  เมกะวัตต์ 

 

ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ กํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565  เฟส 1  บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการ และได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวให้กับรัฐบาล จำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 88.66 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบ FiT ตลอดอายุสัญญา โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 4,289 ล้านบาท บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทยอยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟดังกล่าวทั้ง 88.66 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะลงนามแล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า 

 

**เตรียมลุยประมูล

 

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทได้เตรียมความพร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าฯ รอบที่ 2 ที่มีโควต้าออกมาประมาณ 3,669 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าคว้างานไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์เสนอขาย

 

ขณะเดียวกันบริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเสนอขายเป็น 500 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี โดยยังคงมองโอกาสการเติบโตทั้งการจัดหาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ภายใต้แผน PDP, การขยายการลงทุนหรือร่วมลงทุนโซลาร์ฟาร์ม, การเข้าซื้อกิจการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (M & A) และโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน นอกจากนี้มีแผนการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับเนื่องกับสุขภาพแบบครบวงจร  เพื่อสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง