รีเซต

นักวิจัยชี้คนไทยยุคดิจิทัลอายุอาจยืนยาวถึง 100 ปี-แนะวางแผนชีวิตรอบด้าน

นักวิจัยชี้คนไทยยุคดิจิทัลอายุอาจยืนยาวถึง 100 ปี-แนะวางแผนชีวิตรอบด้าน
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2564 ( 12:05 )
66

วันนี้ ( 21 ก.ย. 64 )ดร.กาญจนา วาณิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมพูดคุยผ่านคลับเฮาส์ในหัวข้อ “Upskilling / Reskilling” ซึ่งจัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยหรือ UNDP และสถาบันอนาคตไทยศึกษา โดย ดร.กาญจนา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าสู่โลกดิจิทัลเร็วขึ้น  มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรองรับในด้านต่าง ๆ ทั้งธุรกิจออนไลน์ มีการนำเอไอมาใช้เพื่อพูดคุยกับคนจริง มีการประชุมออนไลน์ เรียนออนไลน์ ซึ่งทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป

ดร.กาญจนา ระบุว่า ในโลกยุคใหม่ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ซอฟท์สกิล เพื่อสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ต้องทำงานกับนานาชาติมากขึ้น มีความฉลาดในการเข้าสังคมตามทันโลกในสื่อดิจิทัล  มีความคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การต่าง ๆ ในส่วนของผุ้สูงอายุก็ต้องมีทักษะ Unlearn-Relearn คือไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ท พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ให้เป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือและแนะนำผู้อี่นได้ ดังนั้นจึงต้องมาดูว่า เราจะเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัยใกล้เกษียณให้เป็น ผู้สูงอายุที่ยังแอคทีพ ยังมีคุณประโยชน์ เราควรส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ที่จะประกอบอาชีพ ใช้ชีวิต ทำประโยชน์ให้สังคม และดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีควาสุขทั้งร่างกายและจิตใจ

“จากสถิติพบว่า คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้นอย่างน้อย 20 ปี อย่างคนที่อายุ 50 ปี ก็จะอยู่ได้ 80-90 ปี เด็กที่เกิดมาช่วงนี้ก็จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นการที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควรเตรียมการตั้งแต่ก่อนสูงอายุ ก่อนเกษียณ ทั้งด้านสุขภาพ และการเงิน เราอาจต้องมาดูกลไกที่จะส่งเสริมผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ ควรมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้ และการคนเราอายุยืนขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งเรียนมัธยมให้จบภายในอายุ 17-18 ปี เพื่อต่อมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี เพื่อทำงานและรอวันเกษียณ รูปแบบนี้ มันอยู่ในระบบที่อายุขัยเฉลี่ย 70 ปี ถ้าจะอยู่ 100 ปี  ในอนาคตเราควรจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่ต้องเร่งเรียนเร่งจบ  อย่างใน อเมริกา ยุโรป พอจบมัธยมก็ออกไปค้นหาตัวเอง ไปทำงาน แล้วค่อยกลับมาเรียนปริญญาตรี มีสถิติของอเมริกาที่เด็กเรียนปริญญาตรี อายุเฉลี่ยประมาณ 21 ปี ในช่วงชีวิตของเราควรมีหลายอาชีพ ควรมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับทั้งระบบ” ดร.กาญจนา กล่าว 

ต่อข้อถามที่ว่า รูปแบบการศึกษาแบบเดิม มีส่วนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราอาจต้องช่วยกันสนับสนุนคือ เด็กในยุคปัจจุบันสามารถเรียนรู้โลกบนอินเทอร์เน็ตได้เร็วมาก หากได้รับคำแนะนำที่ดี และเลือกรับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับเขา ก็จะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เราอาจต้องเปลี่ยนระบบที่สอนให้ทำตามกรอบเดิม เป็นการพัฒนาระบบแนะแนวที่ดี ที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ สามารถค้นหาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจในการเรียน ให้เขามีกรอบการคิดแบบเติบโต (Growth mindset) คือการเรียนรู้ที่จะนำตัวเองได้ตามความถนัด ดึงความสนใจของเขาออกมา ครู ผู้ปกครองต้องเชื่อว่า เด็กมีศักยภาพที่ต่างกัน มีความต้องการความถนัดที่ต่างกัน ควรสร้างบรรยากาศให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ให้เขาสร้างแรงบันดาลใจด้วยตัวเขาเองเพราะจะเป็นทักษะที่ติดตัวเขาไปตลอด นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยก็ต้องออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่หลากหลายและยืดหยุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนออนไลน์ ปริมาณหลักสูตรต้องพอเหมาะ และตอบโจทย์ รองรับชีวิตแห่งอนาคตที่มีหลายขั้น หรือที่เรียกว่า Multistage Life การออกแบบแพลตฟอร์ม ต้องเข้าถึงได้ง่าย มีช่องทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และทิศทางในอนาคต คือไม่เน้นการเรียนรู้เพื่อให้ได้ปริญญา รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ ก็เน้นทักษะเป็นหลัก การเรียนแบบ Non Degree จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนเข้ารับการอัพสกิล (Upskill) กันอยู่ตลอด ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เอง ก็เริ่มทำโครงการเครดิตแบงก์ เด็กที่เข้ามาเรียนสามารถสะสมเครดิตพอถึงจุดหนึ่ง ก็สามารถนำเครดิตที่สะสมไว้ เทียบเคียงกับปริญญา หรือ อนุปริญญาในสาขานั้น ๆ ได้ มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัว องค์ความรู้ข้ามศาสตร์ต่างๆ มีความจำเป็นมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตจะมี Gig Worker เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเตรียมกำลังแรงงานเพื่อเข้าสู่ตลาดงานต้องคำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้แรงงานมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ โดยทักษะที่จะมีความจำเป็นสำหรับกำลังแรงงานและเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ อันเกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและความเข้าใจ เพื่อมาเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ทักษะด้านดิจิทัล การใช้ Social media เพื่อรองรับการทำธุรกิจออนไลน์ ทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ประชุมและการนำเสนองานผ่านออนไลน์ การใช้คลาวด์ เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน ทักษะ soft skill อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ความสามารถในการยืดหยุ่นและการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงนวัตกรรม ส่วนทักษะที่สำคัญแห่งโลกอนาคต ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในเชิงลึก ความฉลาดในการเข้าสังคม ความคิดแปลกใหม่และการประยุกต์ใช้ การทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ความคิดเชิงประมวลผลหรือเชิงระบบ ความเข้าใจและตามทันโลกยุคสื่อดิจิทัล ความสามารถในการคิดออกแบบสร้างสรรค์งาน การจัดการบริหารการรับรู้ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

“ภาครัฐ ควรปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ และควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เล่นที่อยู่ในส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นมีอิสระและความคล่องตัวในการจัดเรียนรู้ให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงควรส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาดในการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น โดยระดับอุดมศึกษาควรมุ่งเน้นการสนับสนุนการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะที่มีการบูรณาการความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติจริง โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และส่งเสริมการจัดการศึกษาที่บูรณาการร่วมกับการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมของภาคธุรกิจจริง เช่น การฝึกงานระยะสั้น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning, WiL) สหกิจศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานหรือการเป็นผู้ประกอบการ สามารถตอบสนองความต้องการของภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มากขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดงาน และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต มีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลในการจัดการศึกษา ส่งต่อข้อมูลความต้องการด้านทักษะที่ตอบโจทย์สถานประกอบการสู่สถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาโดยการจัดทำมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์สำหรับสถานประกอบการที่ร่วมลงทุน/ร่วมจัดการศึกษา เป็นต้น” ดร.กาญจนา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง