รีเซต

น้ำมันเชื้อเพลิงมีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร รถเราใช้น้ำมันแบบไหนดี

น้ำมันเชื้อเพลิงมีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร รถเราใช้น้ำมันแบบไหนดี
TrueID
27 มกราคม 2565 ( 11:06 )
731
น้ำมันเชื้อเพลิงมีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร รถเราใช้น้ำมันแบบไหนดี

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นทะลุ 90 ดอลลาร์ในวันนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยได้แรงหนุนจากความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย หลายคนอาจยังสงสัยว่า น้ำมันรถยนต์มีกี่ประเภท ต่างกันยังไง และสามารถใช้กับรถยนต์ประเภทใดบ้าง วันนี้ TrueID มีคำตอบไปติดตามกันเลย

 

น้ำมันรถยนต์ มีกี่ประเภท ต่างกันยังไง

น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์ ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ น้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล โดยจำแนกออกเป็น

 

น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน

เป็นเชื้อเพลิงที่กลั่นออกมาจากน้ำมันดิบ และนำมาปรับปรุงคุณภาพ เรียกว่า ออกเทน ซึ่งความเข้มข้น ของค่าออกเทนนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท เช่น เครื่องบิน, รถยนต์ เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันบ่อยๆ จะเป็นตัว เบนซินออกเทน 95 หรือเรียกง่ายๆว่า เบนซิน 95 ที่มีความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้กันในรถยนต์บ้านเรา

 

  • น้ำมันเบนซินธรรมดา หรือ น้ำมันเบนซิน 91

น้ำมันเบนซิน 91 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทน 91 ประกอบด้วยส่วนผสมจากน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และค่าออกเทน 91 ไม่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ใดๆ

  • น้ำมันเบนซินพิเศษ หรือ น้ำมันเบนซิน 95

ส่วนน้ำมันเบนซิน 95 เป็นน้ำมันที่มีค่าออกเทน 95 ประกอบด้วยส่วนผสมจากน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และค่าออกเทน 95 สามารถใช้ได้กับรถยนต์แทบทุกประเภท เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ ทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ และตอบสนองการขับขี่ได้ดี

 

น้ำมันแก๊สโซฮอล์

เริ่มจากแนวคิดพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการหาสิ่งทดแทนพลังงานของน้ำมัน กับการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของพืชผัก โดยแนวทางหลักๆ คือ ใช้แอลกอฮอล์ที่สกัดจากพืชของเกษตรกรไทย เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว และอ้อย ที่เรียกว่า เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ มาผสมผสานกับน้ำมันเบนซิน จนกลายมาเป็นพลังงานทดแทน แก๊สโซฮอล์ (Gasohol) ในปัจจุบัน ซึ่งสังเกตเห็นได้ว่า จะมี ตัว E และตามด้วยตัวเลข นั้นก็คือ จำนวนเปอร์เซ็น ที่มีเอทานอลผสมอยู่นั่นเอง

  • แก๊สโซฮอล์ 91 

สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน 91 ธรรมดาได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนด มีส่วนผสมระหว่างน้ำมันเบนซินพื้นฐานกับเอทิลแอลกอฮอล์ 9 ต่อ 1 มีความบริสุทธิ์ 99.5% โดยควรใช้กับรถยนต์ที่ระบุว่าใช้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เท่านั้น

  • แก๊สโซฮอล์ 95 

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ก็สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน 95 ได้เช่นกัน โดยเป็นการนำน้ำมันเบนซิน 91 มาผสมกับเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งได้จากการหมักอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยมีอัตราส่วนน้ำมันเบนซินพื้นฐานกับเอทิลแอลกอฮอล์จำนวน 9 ต่อ 1 มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 แต่หากจอดรถทิ้งไว้นานน้ำมันอาจระเหยได้ โดยควรใช้กับรถยนต์ที่ระบุให้ใช้กับแก๊สโซฮอล์ 95 เท่านั้น

  • แก๊สโซฮอล์ E20 

แก๊สโซฮอล์ E20 หรือเบนซิน E20 เป็นนํ้ามันที่ได้จากการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ในอัตราที่สูงขึ้นมาก คือในอัตราส่วนน้ำมันเบนซินพื้นฐาน 80 % ต่อเอทานอล 20% เวลาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขับขี่ ไม่ค่อยแตกต่างจาก แก๊สโซฮอล์ 91 หรือ แก๊สโซฮอล์ 95 เท่าใดนัก

  • แก๊สโซฮอล์ E85 

แก๊สโซฮอล์ E85 คือ นํ้ามันที่มีส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ในอัตราส่วนที่ลดลง คือ เบนซิน 15% ต่อเอทานอล 85% ข้อดีคือมีราคาค่อนข้างถูก แต่สมรรถนะในการขับขี่ไม่สามารถสู้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินแบบธรรมดาได้ อีกทั้งยังมีการเผาไหม้เร็ว เพราะมีเอทิลแอลกอฮอล์สสูง ทำให้น้ำมันหมดเร็ว และค่อนข้างเปลืองน้ำมัน นอกจากนี้เอทิลแอลกอฮอล์จำนวนมากยังส่งผลต่อการกัดกร่อนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ทำให้เสื่อมสภาพเร็ว

 

น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล

เป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันดิบที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน (เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน) ซึ่งเป็นน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันใส หรือ Distillate Fuel มีจุดเดือดสูง อยู่ที่ประมาณ 180-370 องศาเซลเซียส เครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ที่มีแรงอัดสูง (High Compression) และสามารถจุดระเบิดได้เอง การจุดระเบิดของเชื้อเพลิงชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากความร้อนของแรงอัดสูงของอากาศในกระบอกสูบ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หัวเทียน น้ำมันดีเซล สามารถแบ่งตามคุณสมบัติที่ใช้ คือ

 

  • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (HSD: High Speed Diesel Oil)

เป็นที่รู้จักกันในชื่อ น้ำมันโซล่า ใช้กับเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบสูงเกิน 1,000 รอบต่อนาทีขึ้นไป (Automotive Diesel Oil หรือ Gas Oil) เช่น รถยนต์, รถบรรทุก, เรือประมง, เรือโดยสาร, รถแทรกเตอร์ เครื่องยนต์ประเภทนี้ จำเป็นต้องใช้น้ำมันที่มีค่าซีเทนสูงและมีการะเหยเร็ว มิฉะนั้นเครื่องยนต์จะเดินไม่สะดวก ถ้าใช้กับเรือเดินสมุทรมักเรียกว่า Marine Gas Oil

  • น้ำมันดีเซลหมุนช้า (LSD: Low Speed Diesel Oil)

ใช้กับเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบต่ำกว่า 1,000 รอบต่อนาที (Industrial Diesel Oil) เช่น เครื่องจักรกล เป็นน้ำมันผสมระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (Distillate Fuel) และน้ำมันเตา (Fuel Oil, FO หรือ Heavy Fuel Oil, HFO) ในอัตราส่วนที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของหระทรวงพาณิชย์

แน่นอนอยู่แล้วว่า เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล และห้ามใช้น้ำมันเบนซินเด็ดขาด เพราะหลักการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซลกับเบนซินจะแตกต่างกัน เช่น การจุดระเบิดภายในห้องเผาไหม้ การจ่ายน้ำมัน หากมีการเติมน้ำมันผิดประเภทเข้าไป จะส่งผลเสียโดยตรงต่อเครื่องยนต์

ไบโอดีเซล 

น้ำมันไบโอดีเซล คือ น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ รวมถึงน้ำมันใช้แล้วที่ได้จากการปรุงอาหาร ซึ่งนำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแอลกอฮอล์ เรียกอีกอย่างว่าสารเอสเตอร์ สามารถนำมาใช้งานทดแทนกับน้ำมันดีเซลได้ เพราะมีคุณสมบัติการเผาไหม้เหมือนกับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียมมาก โดยปัจจุบันมีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากไบโอดีเซล เช่น น้ำมันดีเซล B20 ที่ใช้ส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) กับน้ำมันดีเซล ในอัตราส่วน 20 ต่อ 80 ส่วน

  • น้ำมันไบโอดีเซล B7

น้ำมันไบโอดีเซล B7 คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 7% และสารเติมแต่งคุณภาพสูงที่ช่วยชะล้างทำความสะอาดเครื่องยนต์ ป้องกันการเกิดสนิม ลดมลพิษ

  • น้ำมันไบโอดีเซล B10

น้ำมันไบโอดีเซล B10 คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 10% แต่ทางกระทรวงพลังงาน เตรียมออกประกาศ ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 นี้ เปลี่ยนชื่อน้ำมันดีเซล B10 เป็น ดีเซล

  • น้ำมันไบโอดีเซล B20

น้ำมันไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันดีเซลที่ถูกปรับปรุงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีราคาประหยัด โดยรถที่จะเติมน้ำมันไบโอดีเซล B20 ได้จะต้องเป็นรถที่ผ่านมาตรฐาน EURO 4 เท่านั้นจึงจะรองรับ โดยส่วนผสมหลักของน้ำมันชนิดนี้คือ ไบโอดีเซลเมทิลเอสเตอร์ (B100) ในอัตราส่วน 20% และน้ำมันดีเซล 80% แต่ในปัจจุบัน กรมธุรกิจพลังงานเตรียมยกเลิกการจำหน่าย ดีเซล B20 แล้วในอนาคต

 

เมื่อได้ทราบประเภทของน้ำมันรถกันไปแล้ว ก็ควรเลือกเติมน้ำมันให้ถูกชนิดที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ รวมถึงขับรถอย่างปลอดภัย ไม่ประมาท และถ้าจะให้ดีมาสิแนะนำว่าควรทำประกันรถยนต์ไว้ด้วย เพื่อความอุ่นใจ โดยสามารถ คลิกที่นี่ เพื่อเปรีบเทียบประกันรถยนต์กับเว็บไซต์มาสิได้ง่ายๆ

 

ข้อมูล : masii , yukonlubricants

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง