รีเซต

สอนร้องไห้! บริการสุดแปลกที่สร้างความประทับใจให้คนญี่ปุ่น

สอนร้องไห้! บริการสุดแปลกที่สร้างความประทับใจให้คนญี่ปุ่น
ข่าวสด
22 ตุลาคม 2563 ( 13:28 )
386

บริการสอนร้องไห้ เป็นบริการในประเทศญี่ปุ่น มีคุณครูคอยสอนให้ร้องไห้ เพื่อเป็นการปลดปล่อยและผ่อนคลายความรู้สึกท่ามกลางความกดดันของสังคม

การร้องไห้เป็นการแสดงออกตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่แปลกที่เราจะร้องไห้ออกมา แต่บางทีการร้องไห้ก็กลายเป็นสิ่งที่แสดงออกได้ยาก อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีความกดดันสูงทำให้คนญี่ปุ่นหลายคนกลายเป็นคนเก็บกด จึงเกิดบริการที่ช่วยให้คนผ่อนคลายเรียกว่าบริการสอนร้องไห้ขึ้น

บริการสอนร้องไห้ หรือ Rui-Katsu (รุย-คัตสึ) เป็นบริการที่ช่วยให้คุณได้ปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเอง มีการสอนอย่างจริงจัง มีคุณครูคอยสอนให้ร้องไห้ ชื่อว่า ฮิเดะฟูมิ โยชิดะ เขาทำงานนี้มานาน เป็นเวลากว่า 7 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมบริการนี้เกือบ 50,000 คน

หน้าที่หลักคือ การช่วยให้ผู้คนผ่อนคลาย หรือช่วยให้รู้สึกดีขึ้นด้วยการร้องไห้ เขาเล่าว่าแต่เดิมคนญี่ปุ่นร้องไห้ง่าย แต่เพราะสังคมปัจจุบันส่งผลให้คนญี่ปุ่นร้องไห้ยากกว่าเดิม เพราะมองว่าการร้องไห้เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความอ่อนแอ หลายคนเลยพยายามกลั้นและอดทนที่จะไม่ร้องไห้

อย่างในสมัยเด็กที่ถูกสอนไม่ให้ร้องไห้ พอเติบโตขึ้นกลายเป็นมีความเครียดสะสมและป่วยง่าย เขาจึงต้องการที่จะช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายความรู้สึกและต้องการให้สังคมเลิกมองว่าการร้องไห้เป็นสิ่งที่ไม่ควร

ลักษณะของงานคือ พูดคุยให้ผู้เข้าเรียนรู้สึกผ่อนคลาย ใช้สื่อการสอนเป็นวิดีโอ โฆษณา ภาพยนตร์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแนวครอบครัว กีฬา หรือใช้หนังสือเด็ก คัดเลือกฉากที่น่าประทับใจ ให้มองเห็นถึงความสวยงามที่อยู่ในฉากนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทพูด ใบหน้า อารมณ์ของตัวละคร จะทำให้ผู้คนจะอินไปกับมันจนร่างกายหลั่งน้ำตาออกมา

บทสัมภาษณ์ของผู้เข้าเรียน มิกะ นากามูระ กล่าวว่า เดิมเธอมีความรู้สึกไม่แน่ใจว่าเธอจะร้องไห้ได้รึเปล่า แต่พอเข้าเรียนแล้วรู้สึกแปลกใจหลังค้นพบว่าตัวเองเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว เมื่อร้องไห้ออกมาก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

เขาอธิบายว่าการร้องไห้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ทั้งเป็นการกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาท การปรับระดับการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่สภาวะปกติ อีกทั้งยังช่วยลดอาการป่วยได้ เขาสังเกตว่าถ้าร้องไห้อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งจะไม่ค่อยเจ็บป่วย และมองว่าการร้องไห้จะช่วยให้คนเราได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้

 

ขอบคุณที่มา BBC Reel

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง