รีเซต

ขร.เดินหน้าศึกษา M-MAP ระยะ 2 หนุนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑลครอบคลุม

ขร.เดินหน้าศึกษา M-MAP ระยะ 2 หนุนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑลครอบคลุม
มติชน
1 มีนาคม 2565 ( 11:46 )
66
ขร.เดินหน้าศึกษา M-MAP ระยะ 2 หนุนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑลครอบคลุม

ข่าววันนี้ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลอง โดยการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้อง เวิลด์บอลรูม บี ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมการผังเมืองไทย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพธนาคร จำกัด และ บริษัท ขนส่ง จำกัด ตลอดจนสื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน

 

นายพิเชฐ กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้า เป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วกว่า 211.94 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 112.20 กิโลเมตร จากโครงข่ายทั้งหมด 553.41 กิโลเมตร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-MAP ตั้งแต่ปี 2553 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงแผนแม่บทรถไฟฟ้าให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารในอนาคต กระทรวงคมนาคม

 

จึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง ดำเนินการศึกษา “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2)” เพื่อเป็นการต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิมให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต

 

สำหรับโครงการดังกล่าว มีกระบวนการศึกษาใช้ระยะเวลา 18 เดือน โดยมีขอบเขตการดำเนินงานแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1) การรวบรวม ศึกษาและทบทวนข้อมูล ปริมาณผู้โดยสาร รูปแบบโครงการ แนวเส้นทาง ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน รวมทั้งสถานะของโครงการรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) การวางแผนเพื่อพัฒนาแผนแม่บทโครงข่าย M-MAP2 3) การดำเนินการสนับสนุนทางวิชาการแก่กรมการขนส่งทางราง 4) การพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) และ 5) การประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

 

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือแนวคิดการพัฒนา “แบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง” (Railway Demand Forecast Model) เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายในแต่ละเส้นทางสอดคล้องกับรูปแบบการขยายตัวและการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน และเพื่อให้ M-MAP 2 เป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนในโครงข่ายที่มีความจำเป็นในลำดับรองให้สอดคล้องความต้องการในการเดินทางของประชาชนและทิศทางการพัฒนาในอนาคต และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ตรงตามความต้องการ รวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับประชาชน

 

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้มีข้อตกลงร่วมกับประเทศไทยในการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการ M-MAP 2 ที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าศึกษาอยู่ โดยประเทศญี่ปุ่นได้มอบหมายให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เป็นหน่วยงานผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ในการร่วมมือทางวิชาการกับฝ่ายไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การคาดการณ์ผู้โดยสารระบบรางในประเทศที่มีการพัฒนาระบบรางอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงระบบรางของไทยได้นำไปปรับปรุงหรือพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและนำไปพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความพร้อม และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดปัญหาความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง