รีเซต

ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน

ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน
TNN ช่อง16
16 กันยายน 2567 ( 10:49 )
33

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานติอาโก (SANTIAGO) ในประเทศชิลี กำลังพัฒนาวิธีเปลี่ยน “สาหร่ายทะเลสีเขียว” (Green Seaweed) ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยหวังว่าจะมาเป็นแหล่งพลังงานยุคใหม่ที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


ภาพจากรอยเตอร์

โดยหลักการที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่นี้ เรียกว่า ไบโอโฟโตโวลตาอิกส์ (biophotovoltaics) ซึ่งเป็นหลักการที่จะใช้การสังเคราะห์แสงของสิ่งมีชีวิต เช่น การสังเคราะห์แสงของสาหร่าย มาเปลี่ยนให้แสง กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า 


ในการศึกษานี้ ทีมวิจัยจึงได้นำเอาสาหร่ายทะเลสีเขียว มากระจายลงบน อิเล็กโทรด (Electrodes) หรือตัวนำไฟฟ้าของแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์แบบชีวภาพ โดยทาง เฟเดริโก ทาสกา (Federico Tasca) หัวหน้าโครงการกล่าวว่า สาหร่ายใช้แสงในการออกซิไดซ์น้ำ (Oxidize) และในกระบวนการดังกล่าว พวกมันก็จะปล่อยอิเล็กตรอนออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นำไปใช้ในวงจรไฟฟ้าได้ เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าได้ โดยมีออกซิเจนที่ปล่อยออกมาในกระบวนการ เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม


ภาพจากรอยเตอร์

สำหรับวิธีการศึกษานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีทีมวิจัยที่ใช้หลักการคล้ายกันในการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากสาหร่ายมาแล้ว แต่ในงานวิจัยนั้น เลือกใช้เป็น “สาหร่ายขนาดเล็ก” (microalgae) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ส่วนงานวิจัยชิ้นนี้จะใช้ “สาหร่ายทะเลสีเขียว” (Green Seaweed) ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ และมีหลายเซลล์


ซึ่งเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกใช้สาหร่ายทะเลสีเขียว เพราะว่ามันมีความทนทานมากกว่า และเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยอมรับว่า ขณะนี้ กระบวนการที่ศึกษากันอยู่ ก็ยังห่างไกลจากการนำไปใช้สร้างพลังงานจำนวนมาก ที่จะช่วยประหยัดพลังงานได้จริง (energy efficient) แต่ทีมวิจัยมองว่า การศึกษานี้ เบื้องต้นอาจจะใช้งานจริงได้ในระดับเล็ก เช่น การให้พลังงานกับหลอดไฟ LED 


ทั้งนี้ทีมวิจัยยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาต่อไป โดยหวังว่าสักวันจะสามารถใช้สร้างแหล่งพลังงานได้มากขึ้น และอาจจะขยับไปสู่การใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้


ข้อมูลจาก reutersconnect

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง