รีเซต

“เพลิงซอมบี้” ในแถบอาร์กติก อาจสร้าง “วงจรหายนะ” ผลักโลกเดือดเร็วขึ้น

“เพลิงซอมบี้” ในแถบอาร์กติก อาจสร้าง “วงจรหายนะ” ผลักโลกเดือดเร็วขึ้น
TNN ช่อง16
12 มิถุนายน 2567 ( 17:45 )
34

ในภูมิภาคอาร์กติก แคนาดา อะลาสกา และไซบีเรีย ตอนนี้ กำลังเผชิญกับ “เพลิงซอมบี้ (Zombie Fires)” เผาผลาญดินแดนฝั่งเหนือของโลกอย่างรุนแรง


เพลิงซอมบี้ คือ ไฟป่าที่มอดดับไม่สนิทเต็มที่ แม้ผิวเผินจะดูว่ามันมอดไปแล้ว แต่อันที่จริง ไฟกำลังเผาผลาญอยู่ข้างใต้ แม้บนผืนดินจะปกคลุมด้วยหิมะในฤดูหนาวก็ตาม แล้วเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไหม้ผลิ ไฟที่คุกกรุ่นใต้ดิน ก็จะ “ฟื้นคืนชีพ” ขึ้นมาเผาไหม้อีกครั้ง 


สื่อมวลชน รวมถึงนักวิจัยจำนวนไม่น้อย ให้ข้อสรุปว่า การเกิดขึ้นของเพลิงซอมบี้ มาจากอากาศแห้งในฤดูหนาว ส่งผลให้ไฟป่าและพื้นผิวหน้าดินที่มีใบไม้แห้งเป็นเชื้อไฟอย่างดีให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น


แต่งานวิจัยใหม่ที่ออกมา อาจจะทำให้ข้อสรุปไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าว เพราะต้นตอที่แท้จริง ๆ คือ ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ทำให้มันเป็นวัฏจักร หรือวงจรหายนะ เพราะหากโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เพลิงซอมบี้เกิดบ่อยขึ้น เพลิงซอมบี้นี้เอง ก็จะทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย


สิ่งที่เกิดบนดิน กระทบถึงใต้ดิน


ในงานศึกษา Rate-induced tipping to metastable Zombie fires ได้ชี้ชัดว่า สิ่งที่ส่งผลให้เกิดเพลิงซอมบี้มากที่สุด นั่นคือ “สภาวะโลกเดือด” ที่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ เพราะหากเป็นผลมาจากความร้อนใต้พิภพ ความร้อนจะต้องส่งมาจากข้างล่างขึ้นสู่ผิวดินจนก่อให้เกิดการเผาไหม้จากใต้ดินขึ้นสู่ผิวดิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออุณหภูมิหน้าดินสูงขึ้น ก่อนจะเกิดเพลิงซอมบี้นั่นเอง


ดังนั้น สิ่งที่ส่งผลจึงเป็นเงื่อนไข “ภายนอก” มากกว่าจะเป็นเงื่อนไข “ภายใน” อย่างการที่ความร้อนใต้พิภพทะลุชั้นดินขึ้นมา คำถามคือ เงื่อนไขที่ว่านั้นคืออะไร



ที่มา: Rate-induced tipping to metastable Zombie fires


กราฟข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ “โลกเดือด” ที่เป็นขั้นกว่าของสภาวะโลกร้อน “ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญ” ต่อการเกิดขึ้นของเพลิงซอมบี้ นั่นเพราะ เมื่ออุณหภูมิของโลกเริ่มสูงขึ้น อัตราการเกิดของเพลิงซอมบี้ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย


แต่เพลิงซอมบี้นั้น ไม่ได้เผาไหม้ไปตลอด จะเห็นได้ว่า เมื่อผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ไฟก็จะมอดดับลง ในขณะที่โลกเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้ หมายความว่า เมื่อโลกถึง “อัตราเดือด” ณ จุดที่ “กราฟชันใกล้แตะจุดพีค” เท่านั้น จึงจะทำให้เพลิงซอมบี้เกิดขึ้นได้


และที่ภูมิภาคอาร์กติกเกิดเพลิงซอมบี้บ่อยครั้งนั้น ทั้งที่เป็นภูมิภาคเย็นยะเยือก นั่น เพราะภูมิภาคนี้ตามสถิติแล้วอุณหภูมิแตะจุดเดือดง่ายมาก 


ในงานศึกษา The Arctic has warmed nearly four times faster than the globe since 1979 ชี้ให้เห็นว่า อาร์กติกมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลกถึง “4 เท่า” จากการศึกษาเปรียบเทียบ 5 หน่วยงานด้วยกัน




ที่มา: The Arctic has warmed nearly four times faster than the globe since 1979


สอดคล้องกับงานศึกษา Overwintering fires rising in eastern Siberia ที่ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ส่วนมากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น มักจะเป็นช่วงฤดูหนาว  โดยเฉพาะในไซบีเรีย ที่จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิมากถึงขนาดที่ทำให้อัตราการเกิดเพลิงซอมบี้ในดินแดนนี้เพิ่มสูงถึง 3.5% เลยทีเดียว



ที่มา: Overwintering fires rising in eastern Siberia


รับมืออย่างไร?


เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจจะสรุปได้ว่า ยิ่งโลกเดือด ยิ่งเร่งให้เกิดเพลิงซอมบี้ และยิ่งทำให้ภูมิภาคอาร์กติกค่อย ๆ สูญเสียความเป็น “ขั้วโลก” ที่เย็นยะเยือกไป


คำถามที่ตามมาคือ เราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร?


งานศึกษา Rate-induced tipping in natural and human systems ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่า การปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่ใช่เรื่องที่จะหยุดได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการอะไรใหม่ ๆ และมากยิ่งขึ้น


ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ก็คือ ความพยายามไม่ให้เกิดเพลิงซอมบี้ลุกลามไปยังภูมิภาคอื่น ๆ หรือหากมีความสามารถที่จะออกนโยบายควบคุมการปล่อยคาร์บอนได้ ก็จะดียิ่งนั่นเอง


แหล่งอ้างอิง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง