รีเซต

กสทช. เผยเบอร์โทรเกิน 100 สายต่อวัน มีถึง 1.2 หมื่นเบอร์ เร่งสกัดมิจฉาชีพ

กสทช. เผยเบอร์โทรเกิน 100 สายต่อวัน มีถึง 1.2 หมื่นเบอร์ เร่งสกัดมิจฉาชีพ
TNN ช่อง16
12 ธันวาคม 2566 ( 17:54 )
109

วันนี้ (12 ธ.ค. 66)  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมแถลงมาตรการจัดการซิมม้า แก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากข้อมูลแจ้งเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมายังศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือ AOC 1441 มีการรับแจ้งเข้ามาที่ศูนย์กว่า 80,000 สาย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก จึงต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการจัดการเรื่องนี้ และได้ดำเนินการร่วมกับ กสทช. และ Operator เพื่อจัดการผู้ต้องสงสัยผู้เข้าข่ายหลอกลวง โดยพุ่งเป้าไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่โทรออกจำนวนมากผิดปกติใน 1 วัน


ข้อมูลล่าสุด 9-11 ธ.ค.66 ตรวจพบว่า มีเบอร์โทรศัพท์ที่โทรออกมากผิดปกติต่อวัน เช่น 100 ครั้งต่อวัน ทั้งสิ้น 1.2 หมื่นเบอร์ และจะทำการพักใช้ทุกเบอร์ทันทีในวันนี้ รวมทั้งจะมีการประชุมยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อให้เป็นการทำงานเชิงรุก อีกตัวอย่างคือ ขณะนี้มี 6 ล้านเลขหมายที่ขึ้นทะเบียนแบบไม่ถูกต้อง เข้าข่ายผิดกฎหมาย และอยากเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมดังกล่าว มายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน หากไม่มาดำเนินการ จะระงับการโทรออก และให้รับสายได้อย่างเดียว


นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้บัตรประจำตัวต่างด้าวมาลงทะเบียนซิมการ์ด เปิดใช้งานและขายให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นช่องทางให้โจรใช้ในการหลอกลวงประชาชน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการจับกุมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ อาทิ แม่สอด จังหวัดตาก พร้อมของกลางซิมพร้อมใช้งาน 4,379 หมายเลข และที่ชุมพร พบของกลางกว่า 10,000 หมายเลข


ด้าน นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหมายเลขทั้งหมด 12,500 หมายเลข ที่ใช้การโทรออกและมีการรับสายมากกว่า 100 ครั้ง จะถูกระงับการใช้จนกว่าจะรายงานตัว เพื่อพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเป็นการใช้บริการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทาง กสทช.ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นไปตามนโยบายที่เคร่งครัด


พร้อมทั้งการดำเนินการตามแผนขั้นที่ 2 ที่จะตัดวงจร และตามไล่อุปกรณ์ และเสาสัญญาณเถื่อน รวมถึงการปรับปรุงด้านความปลอดภัยทางด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีของโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมตามชายขอบ มีบุคคลกว่า 14,500 คน ที่มีซิมการ์ดอยู่มากกว่า 50 ซิม ภายใต้ชื่อเดียวกัน รวมแล้วอาจมีถึง 6 ล้านเลขหมาย ดังนั้นอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่ง กสทช. จะดำเนินการสื่อสารให้เจ้าของหมายเลขดังกล่าวมาขึ้นทะเบียนยืนยันตัวตน ตามที่ระยะเวลากำหนดไว้ และอาจจะต้องมีการระงับบางส่วน หากพบว่าใช้ซิมอย่างผิดกฎหมาย


โดยได้กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง AOC สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงาน กสทช. และ ผู้ให้บริการเครือข่ายฯ ออกมา 3 กรณี คือ


1. เมื่อตรวจสอบพบว่ามีหมายเลขโทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทาง AOC จะแจ้งผู้ให้บริการโทรศัพท์ หรือโอเปอร์เรเตอร์ ยกเลิกหมายเลขบริการดังกล่าวโดยทันที อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานอำนาจให้ผู้บริการโทรศัพท์พร้อมดำเนินการ


2. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตรวจสอบหมายเลขอื่น ของผู้ใช้บริการที่เป็นหมายเลขที่ใช้กระทำความผิด และให้แจ้งผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นเจ้าของหมายเลข ขยายผล ตรวจสอบ หากพบผิดปกติให้ระงับบริการ แต่ถ้าจะพิสูจน์ตัวตน ต้องมารายงานตัว


อีกกรณี คือ หากมีการใช้งานเกิน 100 สายต่อวัน ให้มีหนังสือไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับเลขหมายต้องสงสัย หากพบการโทรออกมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นให้ติดต่อเจ้าของเบอร์เพื่อมาแสดงตนใน 7 วัน หรือหากแสดงตน แต่ไม่สามารถชี้แจงการใช้งานได้ ก็ให้แจ้ง AOC เพื่อสืบสวนการใช้งานต่อไป


3. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องรายงานข้อมูลต่อรัฐทุกเดือน หรือตามความเหมาะสม รวมถึงการจัดทำข้อมูลผู้ให้บริการคอลเซ็นเตอร์อย่างแท้จริงด้วย ซึ่งต้องมาแสดงตนและเอกสารมายืนยันภายใน 15 วัน ก่อนใช้มาตรการโทรมากผิดปกติ ทั้งนี้มาตรการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (12 ธ.ค.) เป็นต้นไป


ภาพจาก : AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง