อนามัยโลกแนะฉีด 'วัคซีนมาลาเรีย' ตัวแรกของโลกเป็นวงกว้าง
เจนีวา, 7 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (6 ต.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียตัวแรกของโลก ซึ่งมีชื่อว่า "อาร์ทีเอส,เอส/เอเอส01" (RTS,S/AS01) ให้เด็กในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
วัคซีนตัวดังกล่าวมาจากการวิจัยและพัฒนานาน 30 ปี ภายใต้ความร่วมมือของแกล็กโซสมิธไคลน์ (GSK) บริษัทเภสัชภัณฑ์ของสหราชอาณาจักร โครงการเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านสุขภาพ (PATH) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไร และเครือข่ายศูนย์วิจัยในแอฟริกา
คำแนะนำนี้อ้างอิงผลลัพธ์ของการฉีดวัคซีนข้างต้นจำนวนกว่า 2.3 ล้านโดส ให้เด็กกว่า 800,000 คน ในกลุ่มประเทศนำร่องอย่างกานา เคนยา และมาลาวี ตั้งแต่ปี 2019 โดยเด็กกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั้งสามที่ไม่ได้นอนในมุ้งได้ประโยชน์จากวัคซีนตัวนี้ และลดอาการป่วยหนักลงร้อยละ 30
องค์การฯ ระบุว่าวัคซีนนี้มีประวัติด้านความปลอดภัยที่ดี โดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อปริมาณการใช้งานมุ้ง การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กชนิดอื่น หรือการพยายามจัดการกับอาการป่วยเมื่อเป็นโรคที่มีไข้
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ แถลงว่าวัคซีนตัวนี้ปลอดภัย ช่วยลดอาการป่วยหนักจากโรคมาลาเรียได้มาก ทั้งยังประหยัดและคุ้มค่ายิ่ง
วัคซีนตัวนี้ควรฉีดให้เด็กอายุ 5 เดือนขึ้นไป ทั้งหมด 4 โดส เพื่อลดการป่วยโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตแต่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยมนุษย์ติดโรคนี้จากพยาธิ เมื่อถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่ติดเชื้อกัด
ข้อมูลขององค์การฯ ระบุว่าโรคมาลาเรียยังคงเป็นสาเหตุหลักของการป่วยและการเสียชีวิตของเด็กในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา โดยมีเด็กในแอฟริกาที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตเพราะโรคนี้กว่า 260,000 รายต่อปี
"วัคซีนมาลาเรียที่เรารอคอยมานานนี้ เป็นก้าวใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ สุขภาพเด็ก และการควบคุมโรคมาลาเรีย มันเป็นของขวัญต่อทั่วโลก แต่แอฟริกาจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของมันที่สุด เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากโรคมาลาเรียมากที่สุด"