โซลาร์ปชช.ยังเดินต่อ แต่ปี'65 รับซื้อไฟแค่10เมก รอก.พลังงานเคาะสุดท้าย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย(โซลาร์ภาคประชาชน) ปี 2565 เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปิดรับซื้อในปริมาณรวมประมาณ 10 เมกะวัตต์(10,000 กิโลวัตต์KWp) เนื่องจากการเปิดรับในปี 2564 ปริมาณ 50 เมกะวัตต์เป็นระยะเวลา 10 ปีโดยปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ขายเข้าสู่ระบบจาก 1.68 บาทต่อหน่วยเป็น 2.20 บาท/หน่วยเบื้องต้นพบ 174 รายจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)ประมาณ 1 เมกะวัตต์(1,003 กิโลวัตต์)เท่านั้นและเมื่อรวมดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-จนถึง 30 พ.ย.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 994 รายกำลังผลิตติดตั้ง5.49 เมกะวัตต์( 5,499 กิโลวัตต์)
กกพ.ได้รับนโยบายมาเบื้องต้นว่ายังเดินหน้าส่งเสริมต่อไป โดยเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้หารือกับทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เขาก็วางไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 10 เมกะวัตต์ในปี 2565 แต่ต้องรอคอนเฟิร์มตัวเลขที่ชัดเจนอีก ซึ่งเอาจริงๆ รัฐเองก็ไม่คาดหวังในเรื่องของปริมาณไฟฟ้าจากโครงการนี้เพราะต้องเข้าใจว่าหลังคาบ้านประชาชนติดได้ราว 5 กิโลวัตต์เท่านั้นปีหนึ่งๆ มาได้ระดับ 100 กว่าหลัง ดังนั้น 10 เมกะวัตต์จะมีบ้านติดได้ราว 2,000 หลังถือว่าค่อนข้างมากอยู่
ทั้งนี้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของบ้านที่อยู่อาศัยถือเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนมากกว่าว่า ต้องการประหยัดไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือ ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อม และการตัดสินใจก็อยู่ที่ปัจจัยต่างๆ ทั้งความคุ้มค่าการลงทุนซึ่งต้องเน้นผู้ที่อยู่อาศัยในช่วงกลางวันหากติดแล้วเน้นใช้กลางคืนก็จะต้องติดระบบแบตเตอรี่(ESS)ซึ่งก็จะต้องลงทุนเพิ่มอีก ขณะเดียวกันลักษณะบ้านที่เป็นบ้านเก่าแต่ละหลังต้องดูโครงสร้างว่าเอื้อหรือไม่ หากบ้านใหม่ก็ต้องออกแบบไว้เลยก็จะง่ายกว่า รวมไปถึงค่าไฟฟ้าในขณะนั้นโดยยอมรับว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ที่ปรับตัวสูงอาจจะทำให้ความสนใจในการติดตั้งมีมากขึ้น อย่างไรก็ตามราคาแผงโซลาร์ฯที่แพงขึ้นขณะนี้มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นแต่เชื่อว่าในที่สุดการผลิตก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามมาและทำให้ราคามาอยู่ในจุดสมดุลได้
สำหรับรายละเอียดโครงการโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2564 ที่มีการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ (50,000 กิโลวัตต์หรือ KWp) แบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 15 เมกะวัตต์ (15,000 กิโลวัตต์) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) 35 เมกะวัตต์ (35,000 กิโลวัตต์) ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 64 มีผู้ยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าที่มีเอกสสารครบถ้วน 2,027 รายกำลังผลิตติดตั้ง 11,048 กิโลวัตต์ ผ่านการตรวจสอบด้านเทคนิค 1,864 ราย(กฟน.1,046 ราย กฟภ.818 ราย) กำลังผลิตติดตั้งรวม10,092 กิโลวัตต์ ลงนามซื้อขายไฟฟ้า(PPA) 851 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้ง 4,764 กิโลวัตต์และจ่ายไฟเข้าระบบ(COD) 174 รายรวมกำลังผลิตติดตัง 1,003.8 กิโลวัตต์
ด้านโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตรที่เปิดรับคำเสนอขอขายไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงเรียนและสถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ โรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ สูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564-30กันยายน 2564มีผู้ยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้ารวม 79 รายกำลังผลิตติดตั้ง 8,800 กิโลวัตต์ (8.8เมกะวัตต์) แบ่งเป็น โรงเรียนและสถานศึกษา 72 ราย และสูบน้ำเพื่อการเกษตร 7 รายส่วนโรงพยาบาลไม่มีการยื่นเสนอ แต่ผ่านการตรวจสอบด้านเทคนิค 21ราย(โรงเรียน สถานศึกษา20ราย) สูบน้ำเพื่อการเกษตร 1 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,311.94กิโลวัตต์ ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 7 รายรวมกำลังผลิต 790.2 กิโลวัตต์