นักวิชาการยืนยัน “หมูเถื่อน” อันตรายกว่าที่คิด วอนรัฐเร่งจัดการ ก่อนบานปลายเป็นปัญหาสุขภาพประชาชน
รศ.น.สพ. ดร.คมกริช พิมพ์ภักดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึง สถานการณ์หมูเถื่อนที่กำลังระบาดอย่างหนักทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานว่า กำลังส่งผลต่อสุขอนามัยของคนไทย ซึ่งสามารถก่อปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามานั้น เป็นหมูหมดอายุ ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านการตรวจโรค และมีสารปนเปื้อนอันตรายกว่าที่คาด
“ประเทศไทยมีกฏหมายหลายฉบับที่ออกมาเพื่อความปลอดภัยทางอาหารของคนไทย อย่างหมูไทยจะต้องผ่านการตรวจทั้งก่อนชำแหละและหลังชำแหละ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นหมูที่ปลอดภัยต่อคนไทย แต่หมูเถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงาน มีทั้งเชื้อโรคหรือสารต้องห้ามที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงผู้บริโภคได้” รศ.น.สพ.ดร.คมกริช กล่าว
ทั้งนี้ หมูที่ลักลอบเข้ามาจากสหภาพยุโรปและอเมริกาเป็นหมูแช่แข็งที่ต้องพึงระวัง ส่วนใหญ่เป็นหมูไม่ได้คุณภาพ บางล๊อตเป็นหมูหมดอายุแล้ว หรือเป็นหมูที่คนในประเทศต้นทางคัดทิ้ง ไม่ต้องการบริโภค แทนที่จะฝังทำลายกลับส่งเข้ามาดั๊มพ์ในประเทศไทย โดยขายในราคาถูกมาก เป็นหมูด้อยคุณภาพ การขนส่งทางไกลที่ใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะถึงเมืองไทยย่อมไม่ได้มาตรฐาน และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อนในระหว่างทาง เช่น เชื้อรา สินค้าจากต่างประเทศเช่นนี้ย่อมไม่ใช่อาหารปลอดภัยที่คนไทยสมควรบริโภค โดยสารตกค้างดังกล่าวมีทั้งที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น เบต้าอะโกรนิสต์ และยาปฏิชีวนะที่บางประเทศยังอนุญาตให้ใช้ รวมถึงบางส่วนยังปนเปื้อนเชื้อรา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพผู้บริโภค ที่เบื้องต้นอาจพบอาการท้องเสีย หรือในระยะยาวก็สามารถพบเชื้อปนเปื้อนนั้นๆ ตกค้างในร่างกายทำให้เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรัง และก่อปัญหาด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว
“ผู้บริโภคควรซื้อหาเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และพึงสังเกตราคาหมูที่ถูกผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ หมูกระทะ ไม่ควรนำมาจำหน่ายให้ลูกค้าซึ่งตรงนี้เป็นจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกร้านควรจะมี”
รศ.น.สพ. ดร.คมกริช กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หมูเถื่อนในภาคอีสานลักลอบส่งผ่านเข้ามาทางชายแดน หรือ ช่องทางธรรมชาติ "กรมปศุสัตว์" ต้องกวดขันอย่างเข้มแข็ง ตรวจสอบจับกุมการลักลอบให้เข้มข้นขึ้น เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน และจะเป็นการป้องกันไม่ให้ "หมูเถื่อน" บานปลายเป็นปัญหาสุขภาพของคนในชาติที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย