รีเซต

งานวิจัยล่าสุดปี 2024 เพิ่มโอกาสการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส

งานวิจัยล่าสุดปี 2024 เพิ่มโอกาสการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส
TNN ช่อง16
20 สิงหาคม 2567 ( 13:35 )
23
งานวิจัยล่าสุดปี 2024 เพิ่มโอกาสการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส

การค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวในระบบสุริยะยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสำคัญเป็นดาวที่คาดว่ามีส่วนประกอบของน้ำในสถานะของเหลวอย่างเช่น ดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส ซึ่งลักษณะของดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวง เอื้อต่อการเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต แม้ว่าสภาพอุณหภูมิของดวงจันทร์ทั้งสองจะหนาวจัดเกินกว่าการดำรงชีพปกติของมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลก


งานวิจัยผลกระทบของรังสีต่อกรดอะมิโนทางชีวภาพ


งานวิจัยใหม่ล่าสุด "งานวิจัยผลกระทบของรังสีต่อกรดอะมิโนทางชีวภาพในน้ำแข็งใต้ผิวดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส" ของนักวิทยาศาสตร์นาซา (NASA) ตีพิมพ์เมื่อปี 2024 ที่ถูกเผยแพร่ในวารสาร แอสโทรไบโอโลจี (Astrobiology) แสดงให้เห็นว่ามีสัญญาณหลายอย่างที่ทำให้มีโอกาสที่สิ่งมีชีวิตจะถือกำเนิดบนดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงได้ เช่น การค้นพบโมเลกุลอินทรีย์ กรดอะมิโนและกรดนิวคลีอิก แม้ว่าจะไม่ใช่หลักฐานโดยตรงของการมีสิ่งมีชีวิต แต่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาโมเลกุลอินทรีย์เหล่านี้เป็นอย่างมาก


อเล็กซานเดอร์ พาฟลอฟ (Alexander Pavlov) ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา (NASA's Goddard Space Flight Center) และเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยข้อมูลว่าทีมงานกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการขุดเจาะแผ่นน้ำแข็งบนดวงจันทร์ยูโรปาเพื่อค้นหาอนุภาคอินทรีย์ที่อาจอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็ง ส่วนการส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้น สามารถทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสามารถค้นหาน้ำในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาวได้ โดยไม่ต้องขุดเจาะแผ่นน้ำแข็ง


เหตุผลที่นักวิจัยเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือสัญญาณอินทรีย์อยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งของดวงจันทร์ยูโรปานั้น เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งที่มีความหนาสามารถปกป้องรังสีอันตรายจากอวกาศ ซึ่งในกรณีของสิ่งมีชีวิตบนโลกเราได้รับการป้องกันจากสนามแม่เหล็กของโลก 


การจำลองการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนโลก ทีมงานนักวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างกรดอะมิโนจากแบคทีเรียที่ตายแล้ว และนำไปแช่แข็งในอุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ในสภาพที่เป็นสุญญากาศเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส 


หลังจากนั้นทีมงานได้ยิงรังสีแกมมาใส่ตัวอย่าง เพื่อสังเกตดูว่ากรดอะมิโน มีการสลายตัวหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยนักวิจัยพบว่ากรดอะมิโนสามารถอยู่รอดได้นานพอที่จะตรวจสอบพบได้ การทดสอบในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก และอาจนำวิธีการเดียวกันไปใช้ในภารกิจการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัสในอนาคต


แผนการสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส


สำหรับดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) เป็นบริวารของดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,121 กิโลเมตร และมีบรรยากาศที่เบาบางประกอบไปด้วยออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ พื้นผิวของยูโรปาปกคลุมด้วยน้ำแข็งและมีรอยแตกและเส้นริ้วบาง ๆ ซึ่งทำให้เกิดสมมติฐานว่ามีมหาสมุทรอยู่ข้างใต้เปลือกน้ำแข็ง นาซามีแผนการส่งยานสำรวจ ยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper) เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา โดยยานจะออกเดินทางจากโลกในวันที่ 10 ตุลาคม 2024 และยานจะเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ในวันที่ 11 เมษายน 2030 ก่อนเข้าใกล้ดวงจันทร์ยูโรปาในที่สุด


ส่วนดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) เป็นบริวารของดาวเสาร์ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 504 กิโลเมตร บริเวณขั้วใต้ของเอนเซลาดัสมีภูเขาไฟน้ำแข็ง (Cryovolcano) ที่พ่นอนุภาคน้ำแข็งและไอน้ำออกมา ซึ่งบางส่วนตกกลับสู่พื้นผิวดาว ก่อนหน้านี้สำรวจโดยยานอวกาศแคสซีนี (Cassini) พบว่ามีสารประกอบทางเคมีหลายชนิด ที่อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน เป็นต้น 


นาซามีแผนการส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ในอนาคต แต่โครงการยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา เช่น โครงการเอนเซลาดัสไลฟ์ ไฟนเดอร์ (Enceladus Life Finder) และโครงการยานลงจอดบนพื้นผิวเอนเซลาดัส ออร์บิแลนเดอร์ (Enceladus Orbilander) เป็นต้น


ที่มาของข้อมูล Slashgear

ที่มาของรูปภาพ NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง