มท.อบรม OTOP 16 จังหวัด สานพระปณิธาน "ผ้าไทยใส่ให้สนุก"
(11 พ.ค. 67) เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมน้ำทองน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 2 จังหวัดน่าน โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายธวัช ชุนเคลือบทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดน่าน พลตรี คณิศร อาสนะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 พลตำรวจตรี ดเรศ กัลยา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางสุภาสินี งามธุระ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดน่าน หัวหน้าส่วนราชการ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และสื่อสารการศึกษา นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้เข้าร่วมอบรมจาก 16 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พวกเราทุกคนคือความหวังของประเทศชาติ ทั้งผู้ที่เป็นข้าราชการ ตลอดจนถึงพี่น้องผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม เพราะทุกคนคือผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด สิ่งที่เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ทั้งงานหัตถกรรม งานผ้าประจำถิ่น (ผ้าไทย) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยแห่งความเจริญทางวัตถุ พวกเราสามารถตระหนักได้โดยง่ายว่า บุคคลผู้ที่จะช่วยทำให้มรดกของบรรพบุรุษเรายังคงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยตามจังหวัดต่าง ๆ ยิ่งเหลือน้อยลง เฉกเช่นจังหวัดน่านแห่งนี้ กลิ่นไอของคนน่านก็เริ่มจะเลือนหายไป เพราะเรารับสิ่งต่าง ๆ ของตะวันตก และทั่วโลก ทั้งการศึกษา การสื่อสาร มารยาท การพูด การแต่งกาย ภาษา เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งกลิ่นไอความเป็นน่านเจือจางลง
"แต่นับว่าเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคนที่เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" อันเป็นเป้าหมายที่พระองค์ท่านทรงอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทยแห่งนี้ และต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ ความว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพวกเราชาวมหาดไทยได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมาเป็นหลักใช้ในการปฏิบัติราชการเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน และยิ่งเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคน ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงเสด็จลงมาช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในหลาย ๆ เรื่อง เริ่มตั้งแต่ทรงเป็นมิ่งขวัญให้กับพี่น้อง OTOP ในช่วงวิกฤตการณ์สถานการณ์โควิด-19 ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “OTOP City 2020” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงออกแบบและพระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อส่งมอบความรัก ความสุข ให้ชาวไทยทุกคน พร้อมพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้านำไปเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่อง ประดับ ตามวิถีเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยเน้นการใช้สีธรรมชาติเพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมทั้งพระราชทาน "โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส อันเป็นปฐมบทของการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการที่จะนำเอาภูมิปัญญาของคนไทย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่ง "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" เป็นลายที่ขายดีและเป็นลายที่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและมุมมองผ้าไทยให้เกิดขึ้นกับสังคมตราบถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นับแต่พระราชทานโครงการฯ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยแล้ว 60,000 ล้านบาท และยังมีผ้าลายพระราชทานลวดลายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด คือ ลายสิริวชิราภรณ์ อันเป็นลวดลายแห่งความจงรักภักดีที่พระองค์ได้ทรงออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า ชีวิตจะดีได้ ต้องมีทั้งการสืบสาน รักษา และต่อยอด ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่เป็นของบรรพบุรุษ ที่ท่านได้รักษาไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต อันมีคุณค่า ทั้งนี้ กิจกรรมการอบรมฯ ในวันนี้ จึงมีนัยสำคัญว่า "ของเก่าเราก็ไม่ทิ้ง ของใหม่เราก็ต้องมี" เพราะแฟชั่นเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่สามารถเปลี่ยนตามรสนิยมของคนในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละปีได้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ทางแฟชัน ที่เราไม่เคยนำองค์ความรู้นี้มาใช้ในงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ และงาน OTOP พระองค์จึงพระราชทาน "โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก" ควบคู่กับสิ่งที่เป็น knowhow ของแฟชั่นสมัยใหม่ ว่าเราคนไทยสามารถนำวัตถุดิบของผ้าไทยมาตกแต่งออกแบบตัดเย็บ" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ตนมีความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้เดินทางมาเปิดกิจกรรม coaching เพราะทำให้ได้มาเจอพี่น้องข้าราชการในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ มาเจอพี่น้องตัวแทนของคนไทยผู้มีความมุ่งมั่นในการรักษาภูมิปัญญาของชาติผ่านงานผ้า งานหัตถกรรม หัตถศิลป์ในจังหวัดต่าง ๆ และยังได้มีโอกาสมาร่วมงานกับคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทุกท่านมาด้วยจิตอาสา ด้วยความมุ่งมั่น ด้วย passion ที่จะนำพระปณิธานมาถ่ายทอดขยายผล เพื่อพัฒนาผ้าไทย ทำให้ผ้าไทยไม่มีทางตัน ทำให้เรามีความรุ่งโรจน์จากการผลิตและจำหน่ายผ้าไทย เพราะผ้าไทยจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีรายได้ มีโอกาสที่ดีของชีวิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การ Coaching แบบเดินสายจึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้เรามีความมั่นใจในภูมิความรู้ภูมิปัญญา ในการประกอบสัมมาชีพแล้ว ยังก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม" ตลอดจนถึงการพัฒนาช่องทางการตลาด ดังเช่นเรื่อง Branding มีความสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะหนุนเสริมให้เกิดการเพิ่มรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาส และผ้าไทยแต่ละแบรนด์ที่มีเทคนิคแตกต่างหลากหลายกันไป จะมีกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะความชอบของคนไม่เหมือนกัน ผ้าไทยยังคงมีช่องว่างให้กับเราในการออกแบบอยู่เสมอ แต่เราต้องเปิดใจรับเอาสิ่งที่โลกนิยมเข้ามาใช้ในการประกอบสัมมาอาชีพด้วย
"สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเททรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อทำให้เรามุ่งมั่นศึกษา knowhow ของเรื่องแฟชั่นควบคู่กับการรักษาภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ตลอดจนถึงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังพระดำริ Sustainable Fashion อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จึงเป็นที่มาของการที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดโครงการการประกวดผ้าลายพระราชทาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน การทุ่มเท อย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การย้อมสี การทอ การออกแบบลวดลาย การตัดเย็บ เพื่อผลิตชิ้นงานให้ดีที่สุด ซึ่งนอกจากเป็นการทำให้เราพัฒนาฝีมือแล้ว ยังเป็นการกระตุกความคิด เปิดปัญญา เปิดสมองให้เราคิดลวดลายต่าง ๆ เพิ่มเติม จากเคยมี 5 ลาย กลายเป็น 10 ลาย ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีลายมากขึ้น ด้วยรสนิยมที่แตกต่างกัน เมื่อผู้บริโภคเห็นลวดลายที่หลากหลายก็ จะมีโอกาสที่จะเลือกซื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น พระองค์มิได้พระราชทานแนวพระดำริเพียงเฉพาะเรื่องผ้า และงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมเพื่อสร้างอาชีพ เท่านั้น แต่พระองค์ยังพระราชทานแนวพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" และพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขับเคลื่อนขยายผลในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อทำให้องค์รวมของชีวิตประชาชน "สามารถพึ่งพาตนเองได้" มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรัก ความสามัคคี ห่างไกลสิ่งไม่ดี มีความมั่นคงทั้งด้านอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม และไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นคนไทย โดยมีข้าราชการในพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ช่วยกันเป็นผู้นำทำให้พี่น้องประชาชน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ความสำเร็จของพวกเราคือความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ ด้วยพลังของข้าราชการและพลังภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในทุกพื้นที่ อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้พวกเราได้เป็นต้นแบบให้ลูกหลานในอีกหลายร้อยปีข้างหน้าได้มีผ้าไทยสวมใส่ มีอาหารไทยให้กิน มีงานหัตถกรรมให้ได้ใช้สอย และมีผืนแผ่นดินไทยที่ร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ แสนสุขสบาย ให้ได้อยู่อาศัย
จึงขอให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจว่า พวกเราคือบุคคลสำคัญผู้ที่จะช่วยสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทำให้พี่น้องประชาชนได้มีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในชีวิต
ดังนั้น เราต้องแสดงออกถึงความอดทน ความมานะบากบั่น ขยันหมั่นเพียร ต้องยอมเหนื่อยยากลำบากกาย ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่ม ของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อเราจะได้เป็นผู้นำของโลกแฟชั่นต่อไปในอนาคต ทำให้ผืนผ้าไทยทุกผืนใส่แล้วสนุก ใส่แล้วกิ๊บเก๋ ใส่แล้วหล่อเหลา สวยงาม ดูดี เป็นที่ถูกอกถูกใจของประชาชนคนไทย และผู้บริโภคทั่วโลก อันจะยังผลทำให้ผืนผ้าไทยได้รับการตอบรับ และเป็นที่นิยมชมชอบอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้พี่น้องประชาชนคนไทย ได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ส่งผลให้ครอบครัวและลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป