รีเซต

คู่หูกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์และฮับเบิลร่วมจับภาพแฟนทอมกาแล็กซี

คู่หูกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์และฮับเบิลร่วมจับภาพแฟนทอมกาแล็กซี
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2565 ( 15:23 )
91
คู่หูกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์และฮับเบิลร่วมจับภาพแฟนทอมกาแล็กซี

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency หรือ ESA) ได้เผยแพร่ภาพใหม่ของแฟนทอมกาแล็กซี (Phantom Galaxy) ซึ่งเป็นการรวมกันของภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)


โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่สังเกตการณ์ได้ในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ (Visible light) ไปจนถึงคลื่นอินฟราเรดกลาง (Mid Infrared) ในขณะที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสังเกตการณ์ได้ในช่วงคลื่นใกล้อัลตราไวโอเลต (Near Infrared ), คลื่นแสงที่มองเห็นได้ และคลื่นใกล้อินฟราเรด (Near Infrared) เมื่อนำภาพที่ได้จากทั้ง 2 กล้อง มารวมกันจะทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น

แม้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะได้ชื่อว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ที่มาแทนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งมีแผนจะถูกปลดประจำการในปี 2030 ปีเดียวกันกับที่จะมีการปลดประจำการสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) แต่ด้วยความที่ทั้ง 2 กล้อง สังเกตการณ์ได้ในช่วงลื่นที่ต่างกัน การนำผลลัพธ์จากทั้ง 2 กล้อง มารวมกัน จึงทำให้ภาพที่ละเอียดและชัดเจนมากกว่าการใช้กล้องใดกล้องหนึ่งเพียงกล้องเดียว


“ด้วยการรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานข้ามสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจวัตถุทางดาราศาสตร์ได้ลึกซึ้งกว่าการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเพียงกล้องเดียว” - องค์การอวกาศยุโรปกล่าว


สำหรับแฟนทอมกาแล็กซี หรือเอ็ม74 (M74) เป็นกาแล็กซีรูปทรงก้นหอยขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 32 ล้านปีแสง บริเวณกลุ่มดาวปลา ถูกค้นพบในปี 1780 โดยปิแอร์ เมเชน (Pierre Méchain) ด้วยความที่มันมีแขนกาแล็กซีที่สมบูรณ์ ทำให้เป็นเป้าหมายยอดนิยมสำหรับนักดาราศาสตร์ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับต้นกำเนิดและโครงสร้างของกาแล็กซีชนิดก้นหอย


อีกทั้ง มันยังมีความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) ที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้มองเห็นได้ยาก โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ณ ใจกลางของมันมีหลุมดำมวลปานกลางอยู่ และในกาแล็กซีมีดาวฤกษ์อยู่ถึง 1 แสนล้านดวง


ข้อมูลและภาพจาก www.esa.int

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง