จีนจำกัดการส่งออกแร่ Rare Earth กระทบอุตสาหกรรมผลิตชิปทั่วโลก

จีนจำกัดการส่งออกแร่หายาก (Rare Earth) กระทบห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปทั่วโลก โดยจีนประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายากที่สำคัญบางประเภท เช่นสแคนดิอัม (Scandium) และดิสโพรเซียม (Dysprosium) ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตชิปและเทคโนโลยีขั้นสูง มาตรการดังกล่าวถือเป็นการตอบโต้การขึ้นภาษีสินค้าจีนจากสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีการเก็บภาษีสินค้าจีนถึง 54% พร้อมกับการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ อีก 34%
แร่หายาก (Rare Earth) คือ
กลุ่มแร่ธาตุที่ประกอบด้วยธาตุหายาก 17 ชนิด เช่น สแคนดิอัม (Scandium) ดิสโพรเซียม (Dysprosium) แลนทาเนียม (Lanthanum, La) ซีเรียม (Cerium, Ce) ไซปรอเดียม (Praseodymium, Pr), เนอดิเมียม (Neodymium, Nd), และ ซาแมนเทียม (Samarium, Sm) ซึ่งรวมถึงธาตุที่มีคุณสมบัติพิเศษในการนำไฟฟ้าและแม่เหล็กที่สำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ธาตุในกลุ่มนี้มีทั้งในธรรมชาติและมีแร่ที่พบในปริมาณน้อย ซึ่งทำให้มันกลายเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญและมีมูลค่าสูงในการผลิตสินค้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การจำกัดการส่งออกแร่หายากนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการนำเข้าแร่หายากจากจีน ซึ่งแร่เหล่านี้มีความสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีหลายประเภท โดยเฉพาะการผลิตชิปสมาร์ทโฟน, ฮาร์ดดิสก์, และโมดูล Wi-Fi ซึ่งสแคนดิอัม (Scandium) เป็นแร่ที่ใช้ในโมดูล RF (Radio Frequency) ซึ่งพบในสมาร์ทโฟน โมดูล Wi-Fi และสถานีฐานรับส่งสัญญาณ ในขณะที่ Dysprosium ใช้ในการผลิตหัวอ่านฮาร์ดดิสก์และรถยนต์ไฟฟ้า
แร่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญและไม่สามารถทดแทนได้อย่างง่ายดายนอกจากนี้ยังมีการจำกัดการส่งออกของแร่หายากประเภทอื่น ๆ เช่น Gadolinium, Terbium, Yttrium, Lutetium และ Samarium ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ และยังใช้ในอุปกรณ์เช่น เซ็นเซอร์ และอุปกรณ์การทหาร
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิปทั่วโลก
บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น Broadcom, Qualcomm, TSMC, Samsung, Seagate และ Western Digital ซึ่งพึ่งพาแร่หายากเหล่านี้ในการผลิตสินค้าของตน และจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจำกัดการส่งออกของจีน โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตชิป สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์การสื่อสารอื่น ๆ แม้การจำกัดการส่งออกในครั้งนี้จะไม่ถึงขั้นห้ามส่งออกโดยสิ้นเชิง แต่การเพิ่มขั้นตอนในการขอใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงเศรษฐกิจของจีนอาจทำให้การจัดหาวัตถุดิบล่าช้าขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีน
มาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายากในครั้งนี้สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ของจีนในการยกระดับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ และการควบคุมห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเน้นไปที่วัสดุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การผลิตแผ่นเวเฟอร์ หรือแผ่นที่ทำจากวัสดุกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิคอน (Silicon) ใช้ในการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือชิปคอมพิวเตอร์ไปจนถึงการผลิตชิป ซึ่งมีความสำคัญทั้งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการทหาร การจำกัดการส่งออกในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงทั่วโลก ซึ่งอาจสร้างความยากลำบากให้กับผู้ผลิตที่พึ่งพาแร่หายากเหล่านี้ในกระบวนการผลิตของตน
การจำกัดการส่งออกแร่หายากของจีนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ยังมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปและเทคโนโลยีทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ แม้จีนจะไม่ห้ามการส่งออกโดยสิ้นเชิง แต่การเพิ่มความซับซ้อนในขั้นตอนการขอใบอนุญาตและการควบคุมการจัดหาวัตถุดิบอาจทำให้การผลิตในหลายอุตสาหกรรมสะดุดลงได้หากมาตรการนี้ยังคงดำเนินต่อไป
อุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกอาจต้องพิจารณาหาทางเลือกในการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่น ๆ หรือพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อทดแทนแร่หายากเหล่านี้ ซึ่งอาจเปิดโอกาสใหม่ให้กับประเทศต่าง ๆ ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความหลากหลายและยั่งยืนมากขึ้น