เปิดผลสำรวจเด็กไทยยุคโควิดเล่นเน็ตนาน 8 ชั่วโมงต่อวัน
วันนี้ (13พ.ค.6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการวิจัย การศึกษาการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต โดยพบว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เด็กต้องใช้ชีวิตในบ้าน เพื่อเรียนออนไลน์ ทำให้มีโอกาสใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น โดย ปัญหาสำคัญในการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กคือ ใช้สื่ออย่างไม่รู้เท่าทัน ขาดการยับยั้งชั่งใจ เสี่ยงต่อการได้รับกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ เข้าถึงสื่อการพนัน และสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง ทำให้เกิดผลเสียทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ในระยะยาว
ทั้งนี้ การสำรวจการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชน ในเดือนมกราคม 2564 มีกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 อายุ 13-19 ปี รวม 542 คน และกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 อายุ 6-12 ปี รวม 403 คน
ผลสำรวจพบว่า กลุ่มเด็กมัธยมมีการเปิดรับสื่อมากถึงวันละ 6-8 ชั่วโมง //โดยเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา ร้อยละ61ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเข้าสื่อสังคมออนไลน์ เล่นเกม และติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ร้อยละ 39 และที่น่าห่วงคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ เริ่มอนุญาตให้เด็กใช้สื่อตั้งแต่อายุเพียง 2-3 ปี เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ มีการเริ่มต้นใช้สื่อที่อายุน้อยลง ขณะเดียวกันเนื้อหาสื่อ ยังมีช่องว่างในการพัฒนาเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้านบวกให้กับเด็กเยาวชน
ขณะที่ สสส. และภาคีเครือข่าย จะนำข้อมูลดังกล่าว ไปพัฒนาระบบนิเวศสื่อ ผลิตสื่ออย่างมีความผิดชอบต่อเด็ก และกระตุ้นให้เด็กไทยเกิดความฉลาดทางดิจิทัล สามารถใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21