รีเซต

'ทางรถไฟจีน-ไทย' ก่อสร้างราบรื่น หนุนการเชื่อมต่อภูมิภาค

'ทางรถไฟจีน-ไทย' ก่อสร้างราบรื่น หนุนการเชื่อมต่อภูมิภาค
Xinhua
19 พฤศจิกายน 2565 ( 01:37 )
139
'ทางรถไฟจีน-ไทย' ก่อสร้างราบรื่น หนุนการเชื่อมต่อภูมิภาค

กรุงเทพฯ, 18 พ.ย. (ซินหัว) -- ปัณรส บุญเสริม หรือพานน่าลั่ว วัย 32 ปี รวมถึงทีมวิศวกรชาวจีนและชาวไทยคนอื่นๆ ต่างวุ่นอยู่กับการทำงาน ณ สถานที่ก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของโครงการทางรถไฟจีน-ไทย ระยะที่ 1

พานน่าลั่ว ล่ามประจำโครงการทางรถไฟจีน-ไทย เคยศึกษาและใช้ชีวิตในนครคุนหมิงและเทียนจินของจีนนานหลายปี และชื่นชอบการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง เธอตัดสินใจเข้ามาทำงานนี้หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เพราะประทับใจในความรวดเร็วและสะดวกของรถไฟความเร็วสูงจีน

ทางรถไฟจีน-ไทย เป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และเป็นทางรถไฟความเร็วสูงรางมาตรฐานสายแรกของไทย ซึ่งออกแบบและก่อสร้างด้วยมาตรฐานจีน โดยระยะแรกจะเชื่อมกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา ส่วนระยะที่ 2 จะเชื่อมต่อไปยังจังหวัดชายแดนอย่างหนองคาย ซึ่งอยู่ใกล้กับนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว

นับตั้งแต่ทางรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ชาวไทยจำนวนมากต่างได้รับผลพลอยได้จากการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าที่พัฒนาขึ้น โดยข้อมูลของสำนักงานศุลกากรหนองคายชี้ว่าปริมาณการนำเข้าและส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าปีก่อนทั้งปี และชาวไทยยังนิยมไปท่องเที่ยวในลาวเพื่อสัมผัสกับความสะดวกสบายจากรถไฟความเร็วสูง

มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าการเปิดบริการทางรถไฟจีน-ลาว ช่วยดึงดูดการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน ส่งเสริมการค้าชายแดน และกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของหนองคาย

ด้านดวงใจ สุขเกษมสิน รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เผยว่าทางรถไฟจีน-ลาวช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งสินค้า ทั้งกระตุ้นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ผลไม้สด และสร้างโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยสามารถส่งออกสินค้าพื้นเมืองและหัตถกรรม จึงหวังให้การก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยคืบหน้าโดยเร็วที่สุด

เมื่อไม่นานนี้ หานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่าทางรถไฟจีน-ลาวขนส่งสินค้ามากกว่า 10 ล้านตัน นับตั้งแต่เปิดใหบริการเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและไทย พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย และเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว เพื่อสร้างเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งจะช่วยให้การสัญจรของผู้คนและการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและไทยเป็นไปอย่างราบรื่น กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า ตลอดจนนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

หม่าเซิ่งซวง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (ประเทศไทย) ซึ่งรับผิดชอบโครงการทางรถไฟจีน-ไทย ระยะที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันงานโยธาของโครงการระยะแรก จำนวน 14 สัญญา กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น

พานน่าลั่วทิ้งท้ายว่าเมื่อปี 2012 เธอเคยนั่งรถโดยสารประจำทางทางไกลจากคุนหมิงกลับมาเชียงใหม่เป็นเวลากว่า 20 ชั่วโมง ทว่าหากทางรถไฟจีน-ไทย เปิดสัญจรในอนาคต เธอจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปคุนหมิงอย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง