"ภาษีสหรัฐฯ" จะทำ "เศรษฐกิจโลก" ซ้ำรอย "Great Depression" หรือไม่

จากการกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลกในอัตราที่สูงมาก จนมีหลายเสียงออกมาพูดภถึงมาตรการดังกล่าว ว่าอาจจะฉุด "เศรษฐกิจโลก" ดำดิ่งจนซ้ำรอยกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ "Great Depression" ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ที่เป็นบทเรียนสำคัญให้กับนานาประเทศในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจจากนั้นเป็นต้นมา
แล้วในปัจจุบันมาตรการ "ภาษีสหรัฐฯ" มีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เหมือน หรือแตกต่าง รวมถึงมีปัจจัยอะไรที่มากระทบเช่นเดียวกับในปี 1930 หรือไม่ จะพาย้อนกลับไปรู้จักกับ "Great Depression" ในทศวรรษที่ 1930
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ในปี 1930 ที่สร้างบาดแผลให้กับระบบเศรษฐกิจโลกเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี เป็นภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลพวงมาจากความบอบช้ำของ "สงครามโลกครั้งที่ 1"
จากจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914-1918 ยุโรปคือสมรภูมิที่กำลังสู้รบกันอย่างหนัก ระบบเศรษฐกิจพังย่อยยับ ภาคการผลิตทั้งสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเสียหายจนไม่สามารถขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจได้เลย หลายประเทศในยุโรปจึงจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสินค้าสำคัญเข้ามาทดแทน
คงจะพอเดากันได้ว่าในช่วงเวลานั้นประเทศไหนจะมีศักยภาพขนาดนั้น "สหรัฐอเมริกา" ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายสำคัญไปปยังยุโรป โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในระยะเวลา 4-5 ปี การส่งออกของสหรัฐฯไปยังยุโรป ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า หลัก ๆ ก็มาจากสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เท่า และสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า
แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศในยุโรปเริ่มทยอยฟื้นตัว ภาคการผลิตทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม กลับมาขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม ตัวเลขการค้าระหว่างสหรัฐฯอเมริกากับยุโรป สลับขั้วเปลี่ยนข้างอย่างสิ้นเชิง
กลายเป็นว่ามูลค่ากการส่งออกของสหรัฐฯไปยังยุโรปในช่วงปี 1918-1925 ปรับตัวลดลงเกือบ 3 เท่าตัว แต่การส่งออกจากยุโรปไปยังสหรัฐฯกลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่าตัว เป็นสาเหตุที่ทำให้บาดแผลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเปิดกว้าง จนนำไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายของ "ตลาดหุ้นสหรัฐฯ" ที่เริมต้นในเดือนกันยายน และนำไปสู่การพังทลายของ "วอลล์สตรีท" ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 1929
จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เกิดขึ้นก็ในระยะเวลาอันสั้น และตลาดหุ้นสหรัฐฯก็ร้อนแรงเป็นอย่างมากดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 100 ใน ค.ศ. 1926 เป็น 225 ใน ค.ศ. 1929 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในระยะเวลาแค่ 3 ปี จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 22% สร้างแรงดึงดูดให้กับนักลงทุนทั่วทุกสารทิศเข้ามาสร้างความร่ำรวย กอบโกยผลประโยชน์กันอย่างสนุกสนาน
แต่แล้วช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นก็กลายเป็นภาพลวงตา "Honeymoon Period" ได้จบลงอย่างถาวร เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สินเชื่อที่ขยายตัวอย่างมากจนอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการในสินค้าเริ่มลดลง ผู้ประกอบการหลายรายต้องใส่เบรกกำลังการผลิต เพราะยิ่งทำยิ่งเจ็บตัว
ธนาคารพาณิชย์เริ่มไม่มั่นใจในตลาดหุ้นจึงพยายามเรียกคืนหนี้สินที่ปล่อยกู้ไป ราคาหุ้นดิ่งลงเรื่อย ๆ จนตลาดหุ้นที่วอลสตรีท ล้มลงเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ที่ถูกจดจำในชื่อ "อังคารทมิฬ" หรือ Black Tuesday หายนะทางการเงินครั้งนี้ทำให้ธนาคารหลายพันแห่งต้องล้มลง มูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และปูทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาอั้นสั้น
จนการเข้ามาของ "เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาจากพรรค "รีพับลิกัน" ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมจากยุโรป สูงสุดถึง 60% ในปี 1930 หรือ Smoot-Hawley Act เพื่อหวังแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมันคล้ายคลึงกับมาตรการ "ภาษีทรัมป์" ที่ก็มาจากพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกัน
เมื่อสหรัฐฯประกาศใช้มาตรการดดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ เผชิญกับความยากลำบากในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ฟางเส้นสุดท้ายก็ขาดลง 25 ประเทศดำเนินการตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มภาษีศุลกากรของตนเองด้วย ถึงตอนนี้ราคาสินค้าก็พุ่งขึ้นไปหลายเท่า และผลที่ได้รับคือการค้าระหว่างประเทศลดลงมากกกว่า 60% หรือ 2 ใน 3 เลยทีเดียว ระหว่างปี 1929 ถึง 1934 กดแผลจากสงครามโลกให้เศรษฐกิจช้ำขึ้นไปอีก และตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำยาวนาน จนเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาษีสหรัฐฯที่กำลังจะจุดชนวนสงครามการค้าให้กับโลกในปี 2025 อาจจะมีหลายประเด็นที่คล้ายคลึงกันกับเมื่อปี 1930 แต่แนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากกว่า เพราะภาษีทรัมป์เรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่า และเรียกเก็บจากทั่วทุกมุมโลก ในทุกสินค้า และยังพุ่งเป้าไปที่คู่แด้นอย่าง "จีน" ที่ถูกเรียกเก็บภาษีหลักร้อยเปอร์เซ็นต์
และถึงแม้ว่าสถานการณ์ในปี 2025 จะต่างกับปี 1930 ตรงที่ว่า หลาย ๆ ประเทศเลือกใช้วิธีในการเจรจามากกว่าที่จะตอบโต้ ยกเว้นจีน แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ซับซ้อนกว่าในอดีตมาก ขนาดเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐฯ ก็ใหญ่ที่สุดในโลก การพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศต่าง ๆ ในโลก พัฒนาไปไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับ ผลกระทบที่ตามมานั้นอาจจะรุนแรงไม่แพ้กัน
หลังจากนี้ เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับอะไรบ้าง จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าท่าทีของทั้งสหรัฐฯ และจีน ที่จะพร้อมเข้าสู่กระบวนการเจรจาหรือไม่ และถ้าพร้อมเจรจากัน จะเป็นเมื่อไหร่ และจะมีเงื่อนไขอย่างไร นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่มีทั้งสหรัฐฯ และจีนกำลังยืนอยู่ปากเหว
และเบื้อล่างของก้นเหวนั้น ก็มีประเทศต่าง ๆ ทั้งน้อยใหญ่ ยืนมองและภาวนาว่า "อย่าให้มียักษ์ตกลงมาจากหน้าผานั้นเลย" เพราะมันจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่น ๆ ในโลกไปด้วย