"พิชัย" เปิด 3 แนวทาง ไทยสู้ศึก"ภาษีทรัมป์" จ่อซื้อสินค้าสหรัฐฯเพิ่ม แต่ต้องไม่กระทบผู้ผลิตไทย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกันแถลงข่าว ผลการประชุมกับทีมไทยแลนด์และทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับมือปัญหากรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แจ้งอัตราภาษีนำเข้า 36%
นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ตนได้เชิญ ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อมาพูดคุยกรณีได้รับจดหมายจากสหรัฐอเมริกา จึงขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นการเลื่อนเวลาให้ เรายังไม่ได้เจรจาถึงที่สุด วันนี้จึงมีการทบทวนเพราะยังมีเวลาถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เพื่อให้ได้ข้อยุติซึ่งมองว่าจะเป็นข้อยุติแบบกว้าง ๆ และยังต้องคุยกันอีกนาน
โดยเมื่อวานนี้ได้มีการเรียกประชุมภาคอุตสาหกรรม สภาหอการค้ารวมถึงบริษัทใหญ่ ๆ รายงานถึงผลกระทบและมาตรการรองรับ ได้ข้อมูลมากพอสมควรและกลับไปทำการบ้านกัน ซึ่งคาดว่าจะได้ผลสรุปในวันจันทร์ 14 กรกฎาคม 2568 นี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การทำงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เดินไปได้อย่างเรียบร้อย จึงเป็นที่มาในการประชุมวันนี้มานั่งคุยกัน ซึ่งในที่ประชุมเราได้ให้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้รู้รายละเอียดว่าทำอะไรไปบ้าง รวมถึงท่าทีและความคิดเห็น เพื่อดูว่าหากเกิดผลกระทบอย่างไรและจะแก้ปัญหาได้อย่างไร
ทั้งนี้สิ่งแรกที่เราจะคุยกับทางสหรัฐอเมริกา คือ มุมมองในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย 3 ประการ คือ
1. ผู้ผลิตภายในประเทศต้องไม่ได้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคเกษตรฯ และภาคอุตสาหกรรมรายย่อย
2. ไทยอาจต้องรับซื้อสินค้าสหรัฐฯเข้ามา ซึ่งจะได้โอกาสในการปรับตัว ทำให้สินค้าที่นำเข้ามาในประเทศไทย ได้รับการกำกับดูแลให้ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง
3. ออกมาตรการรองรับและช่วยเหลือในหลายเรื่อง ซึ่งจะมีการไปทำการบ้านในรายละเอียด แต่มีการกำหนดมาตรการกว้าง ๆ เอาไว้แล้ว
ส่วนกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในวันนี้นั้น นายพิชัยกล่าวว่า ตนเองเป็นผู้เชิญนายทักษิณเข้าร่วมด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานได้
พร้อมกล่าวย้ำว่า การประชุมวันนี้ ได้มีการหารือในหลายประเด็น ไม่ได้จำกัดเฉพาะมาตรการรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด ทั้งในด้านการชี้แจงและการเจรจากับทางการสหรัฐฯ โดยมาตรการของไทยสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนในทุกมิติ และหวังว่าจะไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ได้รับจากทางสหรัฐฯ แบ่งหมวดหมู่สินค้าที่จะเก็บภาษีออกเป็น 2-3 ประเภทใหญ่ ๆ เช่น สินค้าทั่วไปเริ่มต้นที่อัตราภาษี 10% โดยบางประเทศ เช่น เวียดนาม อาจถูกเก็บเพิ่มเป็น 20% ส่วนสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่อีกประเภทนึงคือสินค้าผ่านทาง ที่มาจากการนำเข้าก่อนนำมาประกอบหรือเพิ่มมูลค่าด้วยการใส่โลคอลคอนเทนต์ เชื่อว่าประเทศไทยมีระบบการควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ดี เมื่อเทียบกับบางประเทศที่อาจมีสัดส่วนสินค้าลักษณะนี้สูงกว่า ซึ่งอาจทำให้ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า โดยนายพิชัยมองว่า หากมองในภาพรวมแล้ว เชื่อว่าผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไม่น่าจะรุนแรงมาก
ทั้งนี้ข้อมูลที่จำเป็นต่างทางการไทยได้มีการจัดส่งไปยังสหรัฐฯแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา แต่ในวันนี้เป็นการกลับมาทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าทิศทางที่ดำเนินการมานั้นถูกต้อง และอาจมีการปรับปรุงบางจุดเล็กน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอยู่แล้ว และหากจำเป็นนายพิชัยก็พร้อมที่จะออกเดินทางไปเจรจาด้วยตนเองอีกครั้ง
นายพิชัยกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดตัวเลขเป้าหมายอัตราภาษีที่แน่นอน เพราะหากไทยถูกเก็บภาษีสูงกว่า 20% เช่น 25% ก็อาจทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลจะพยายามไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น
เมื่อสอบถามถึงประเภทสินค้าที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจนำเข้าจากไทย นายพิชัยระบุว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจในสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร แม้จะมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากฝ่ายสหรัฐฯ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
