รีเซต

GUNKULรับอานิสงส์เต็ม รัฐหนุนติดโซลาร์รูฟท็อป

GUNKULรับอานิสงส์เต็ม รัฐหนุนติดโซลาร์รูฟท็อป
ทันหุ้น
5 กุมภาพันธ์ 2568 ( 14:00 )

#GUNKUL #ทันหุ้น - GUNKUL รับผลดี ครม. เร่งคลอดนโยบายติดโซลาร์รูฟท็อป –กระทรวงพลังงาน ตั้งท่าชงเคาะลดหย่อนภาษีนิติบุคคล เชื่อจูงใจภาคธุรกิจใช้พลังงานสะอาด ส่วนดีมานด์ภาคครัวเรือนเติบโตต่อเนื่องเข้าทาง GRoof อ้ารับโอกาสขยายฐานลูกค้า  ย้ำเป้ารายได้ 2568 แตะหมื่นล้านบาท  ล่าสุดได้งาน EPC สายส่ง 500 กิโลโวลต์ หนุนแบ็กล็อกที่ 4 พันล้านบาท

 

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานโรงไฟฟ้า วิศวกรรม ก่อสร้าง และจำหน่ายอุปกรณ์ เปิดเผยกับ “ทันหุ้น” ว่า ตลาดงานที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์รูฟท็อป กำลังได้รับผลดีจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ตั้งแต่การผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป หรือ Solar Rooftop ทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานไปแล้ว

 

@ลุ้นสิทธิลดหย่อนภาษี

โดยล่าสุดกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติมาตรการทางภาษี ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปพ่วงอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อ 1 มิเตอร์นั้น จะเป็นผลดีที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่จะทำงานได้สะดวก ส่งผลดีต่อนิติบุคคลที่ต้องการประหยัดพลังงาน ภาคประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างชัดเจนหากครัวเรือนต่างๆ ใช้พลังงานสะอาดในวงกว้าง

 

นอกเหนือจากงานรับติดตั้งโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับผู้ประกอบการประเภทนิติบุคคลต่างๆ แล้ว GUNKUL ยังมีโครงการในเครือ คือแบรนด์ GRoof ให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มที่พักอาศัย โดยจัดตั้งมากว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งคาดการณ์จะได้รับผลดีจากโอกาสขยายตลาดและเพิ่มรายได้ ส่วนการแข่งขันในตลาดขณะนี้ยังไม่ต่างจากเดิมมากนัก  อย่างไรก็ตามรายได้ในส่วนนี้อยู่ที่ราว 200 ล้านบาทต่อปี ยังไม่มีนัยในปัจจุบันแต่ถือเป็นการเติมเต็มบริการให้ครบวงจรมากขึ้น

 

@รายได้ปีนี้หมื่นลบ.

สำหรับผลประกอบการปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้รวม 10,000 ล้านบาท สนับสนุนจากรายได้ทั้งธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ และล่าสุดธุรกิจงานรับเหมาและวางระบบทางด้านวิศวกรรม หรือ EPC ก็มีงานใหญ่เข้ามาเพิ่มเติม โดยบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและได้ทำกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture กับ China National Heavy Machinery Corporation ได้รับหนังสืออนุมัติว่าจ้างจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง 2 ถึงสถานีไฟฟ้าแรงสูงปลวกแดง

 

โครงการดำเนินการในนาม THE JOINT VENTURE OF CHINA NATIONAL HEAVY MACHINERY CORPORATION & FUTURE ELECTRICAL CONTROL COMPANY LIMITED โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 622.04 ล้านบาท และ 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 673.70 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ครอบคลุมการจัดหาอุปกรณ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการขนส่งและติดตั้งอย่างครบถ้วน ช่วยสนับสนุนงานในมือ หรือ Backlog งาน EPC เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านบาท

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง