Magik Growth นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน สร้างมูลค่าเพิ่ม
แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magic Growth
นวัตกรรมถุงห่อผลไม้ Magic Growth พัฒนาขึ้นโดย ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ทำมาจากวัสดุนอนวูฟเวน ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันศัตรูพืช ให้ผลผลิตทุเรียนที่ผิวสวย เปลือกบาง น้ำหนักเนื้อเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี รวมถึงมีความปลอดภัยกับตัวเกษตรกรและผู้บริโภค และยังอยู่ในลักษณะของถุงปลูก ถุงห่อ ผ้าคลุมแปลงต่าง ๆ
วัสดุนอนวูฟเวนคืออะไร?
วัสดุนอนวูฟเวนคือ ผ้าที่เกิดจากเทคโนโลยีการขึ้นรูปจากเส้นใยโดยตรง ไม่ผ่านการถักการทอ เรียกอีกอย่างว่า ผ้าสปันบอนด์ ซึ่งมีหลายแบบ เช่น สก๊อตไบรท์ที่เราใช้ล้างถ้วยชามซึ่งเป็นนอนวูฟเวนแบบเส้นใยสั้น แล้วมาทำให้เป็นก้อน รวมถึง วัสดุที่ใช้ดูดซับเสียงและกันเสียงภายในรถยนต์
ลักษณะโครงสร้างถุงห่อผลไม้ Magic Growth
โดยนวัตกรรมถุงห่อทุเรียนนี้ เป็นนอนวูฟเวนที่มีโครงสร้างเป็น 3 มิติ ที่เกิดจากการใช้องค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ จุดเด่นอยู่ที่การคิดค้นสูตรผสมเม็ดพลาสติกเฉพาะตัว คือ การผสมเม็ดพลาสติกพอลีโพรพิลีน (PP) กับสารเติมแต่ง เพื่อให้สี และคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทาน นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปทรง ด้วยการใช้ลูกกลิ้งขนาดใหญ่กดทับวัสดุให้เป็นแผ่นผ้าที่มีเส้นใยขนาดเล็กประมาณ 10 - 20 ไมครอน สามารถระบายอากาศและน้ำได้ดี
ซึ่ง ดร.ณัฐภพ อธิบายลักษณะของมันว่า "คือการที่เรานำวัสดุมา มีความสูง มีความต่ำ มีความมีเลเยอร์ที่เป็นลักษณะเป็นเคิร์ฟ ส่วนที่ต่ำหมายความว่าโดนความร้อนกด ทำให้เกิดความแข็งแรง ส่วนที่สูงฟู คือ ส่วนที่เป็นเส้นใยเล็ก ๆ ที่ทำให้อากาศน้ำผ่านเข้าออกได้ ตัวนั้นที่เราเรียกว่าโครงสร้าง 3 มิติ คือมีทั้งแบบนูน แบบบาง มีความแข็งแรง แล้วก็มาประกอบกันเป็นแผ่นผ้าใหญ่ๆ เป็นการออกแบบโครงสร้าง สูตรเหล่านั้นนำมาผลิต ได้ผ้ามาแล้วเอามาออกแบบการตัดเย็บถุงให้มันเหมาะกับการใช้กับทุเรียนให้เกษตรกรใช้งานได้ง่าย"
การศึกษาเรื่องช่วงแสงที่พืชใช้ในการเจริญเติบโตเป็นสิ่งสำคัญ
หนึ่งในสิ่งจำเป็นในการพัฒนาถุงห่อผลไม้นี้ คือ การศึกษาเรื่องช่วงแสงของพืช ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโต และส่งผลต่อการเลือกชนิดเม็ดสีในการผสมสูตรเม็ดพลาสติก โดยพืชจะมีตัวรับแสงหรือ Photoreceptor ที่มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต การสร้างเนื้อและเปลือก ทางทีมงานจึงนำถุงสีต่าง ๆ เข้ามาทดลองใช้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สีแดง คือ สีที่พืชหลายชนิดต้องการในการเจริญเติบโต และช่วยให้พืชแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศ ป้องกันศัตรูพืช อย่างหนอนหรือเพลี้ยได้
ผลทดสอบการใช้ถุง Magic Growth ห่อผลทุเรียน
จากการใช้ถุงห่อผลทุเรียนเห็นได้ชัดว่า ผิวของทุเรียนที่ห่อถุงผลไม้จะเขียวสวย ร่องหนามใส ไม่มีรอยแตก ความหนาของเปลือกจะบางลง ให้น้ำหนักเนื้อมากขึ้นเมื่อเทียบภายในต้นเดียวกัน โดยน้ำหนักที่ชาวสวนจะได้ประมาณ 13 - 17% สูงขึ้นกว่าทุเรียนที่ไม่ห่อผล โดยทดสอบที่สวนทุเรียนสไตล์ช๊าลฮิ บนพื้นที่ 4 ไร่ครึ่ง ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง เป็นที่แรก จากนั้นทดสอบเก็บข้อมูลจากสวนอื่น ๆ ใน จ.ระยอง อีก 7 - 8 สวน และที่ จ.นราธิวาส 4 - 5 สวน พบว่าได้แนวโน้มเดียวกัน คือ น้ำหนักเนื้อจะสูงขึ้น
ผลตอบรับของเกษตรกรจากการใช้ถุงห่อทุเรียน Magic Growth
โดยพี่จุ๋ม เจ้าของสวนทุเรียนสไตล์ช๊าลฮิ ใน จ.ระยอง ซึ่งเป็นสวนนำร่องใช้งานถุงห่อทุเรียน เล่าให้ฟังถึงข้อดีของการใช้ถุงห่อทุเรียนป้องกันแมลงแทนการใช้สารเคมีว่า "ในการพ่นยาของเกษตรกรโดยเฉลี่ยแล้วเนี่ย จะอยู่ที่ประมาณอาทิตย์ละครั้ง พอเราห่อผลไปแล้วมันคือระยะเวลา 2 เดือนจนไปถึงตัด 8 สัปดาห์ที่เราไม่ได้ไปเสียค่ายาต่าง ๆ ที่เราจะพ่นไปที่ผล ค่าใช้จ่ายตรงนั้นมันจะลดไป มันเป็นทุเรียนที่ค่อนข้างจะตอบโจทย์ หนึ่งคือตรงวัตถุประสงค์ที่เราทำ สองในมุมมองของผู้บริโภคนั่นคือความปลอดภัย"
ข้อจำกัดของถุงห่อทุเรียน Magic Growth
อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงห่อผลไม้ Magik Growth ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการป้องกันมดหรือแมลงขนาดเล็กไม่ได้ การหาช่วงเวลาการห่อที่เหมาะสม และไม่สามารถมองเห็นผลทุเรียนที่อยู่ในถุงว่าสุกพร้อมเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ เกษตรกรจึงต้องมีการทำสัญลักษณ์บนถุงเอาไว้ตั้งแต่ก่อนห่อ รวมถึงคนตัดทุเรียนอาจต้องใช้การสังเกตผิวทุเรียนมากกว่าเดิม เพราะผิวหนามของทุเรียนที่ห่อถุงจะใกล้เคียงกับทุเรียนอ่อน
การใช้งานในปัจจุบัน และการพัฒนาต่อยอด
ปัจจุบัน ถุงห่อทุเรียนนี้ถูกถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บริษัทผู้ผลิต และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของไทย โดยราคาถุงห่อทุเรียนจะอยู่ที่ 35 - 40 บาท ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 3-4 ครั้ง มีอายุการใช้งานนานประมาณ 3 ปี ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อยามาพ่นทุเรียนได้ และยังทำให้ชาวสวน ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพพรีเมียมมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนในอนาคตถุงห่อผลไม้ Magik Growth จะถูกพัฒนาให้สามารถต้านทานความแรงของลมพายุได้ โดยที่ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหาย หรือร่วงน้อยลง
นวัตกรรมนี้อาจเป็นแรงส่งส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ “ราชาผลไม้ไทย” ส่งออกได้มากขึ้น และสอดคล้องไปกับโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน