รีเซต

"อินทรีเต็มไปหมด" เหตุใด “อินทรี” มักเป็นสัญลักษณ์ ติดอกซ้ายทีมชาติในยุโรป

"อินทรีเต็มไปหมด" เหตุใด “อินทรี” มักเป็นสัญลักษณ์ ติดอกซ้ายทีมชาติในยุโรป
TNN ช่อง16
25 มิถุนายน 2567 ( 16:38 )
30
"อินทรีเต็มไปหมด" เหตุใด “อินทรี” มักเป็นสัญลักษณ์ ติดอกซ้ายทีมชาติในยุโรป

นับเฉพาะในฟุตบอลยูโร 2024 นี้ จะพบว่ามี 5 ทีมชาติที่ใช้ “อินทรี” เป็นสัญลักษณ์ติดหน้าอกข้างซ้ายบนชุดแข่งขัน ได้แก่ เยอรมนี อัลแบเนีย เซอร์เบีย โปแลนด์ และออสเตรีย ซึ่งถือว่ามีจำนวนเกือบ 1 ใน 5 เลยทีเดียว


แต่คำถามคือ เหตุใดต้องเป็นอินทรีด้วย?


อินทรีนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยเปอร์เซีย ตามความเชื่อของศาสนาโซโรอาสเตอร์ ประมาณ 550 ปีก่อนคริสตกาล อินทรีคือ “ความรุ่งโรจน์แห่งพระผู้เป็นเจ้า” ปรากฏครั้งแรกเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์อาเคมินิดแห่งเปอร์เซีย สมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช ที่แผ่ขยายพระบารมีมายังดินแดนยุโรป (แถบ ๆ ตุรกีและกรีกในปัจจุบัน)


และกรีกก็รับเข้ามาโดยเปลี่ยนให้อินทรีเป็นตัวแทนของ “ซุส” จนมาสมัยโรมัน อินทรีได้เข้ามาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกองกำลังทหารโรมัน เรียกว่า “อากวีลา (Aquila)” เป็นเครื่องบรรดาศักดิ์ของทหารชาวโรมันที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดที่จะต้องรักษาไว้ยิ่งกว่าชีวิตของตน


และเมื่อโรมันล่มสลาย อาณาจักรอื่น ๆ ในยุโรปต่างรับความคิดเรื่องอินทรีเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ของตน โดยเฉพาะในยุโรป “ภาคพื้นทวีป (Continental)” ที่รับมามากกว่าใครเพื่อน อย่างอาณาจักรไบเซนไทน์ (Byzentines) มาจนถึง “อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)” ที่พัฒนาไปเป็น “อินทรี 2 หัว” ที่หมายถึงพระราชอำนาจและพระราชวิญญาณ รวมถึงอาณาจักรที่ไพศาลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกอีกด้วย


ซึ่งบริเวณพื้นที่อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ปัจจุบันคือ ประเทศเยอรมนี และออสเตรีย โดยสัญลักษณ์เกี่ยวกับอินทรีได้แผ่อินทธิพลไปยังเซอร์เบีย โปแลนด์ และอัลแบเนีย ในเวลาต่อมาในฐานะที่อินทรีนั้นเป็น “ตราประจำราชวงศ์ (Heraldry)” ของพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรเหล่านี้


และส่วนใหญ่ตราประจำทีมชาติของยุโรป มักจะถอดแบบมาจากตราประจำราชวงศ์ดั้งเดิมของประเทศ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่หากประเทศใดมีราชวงศ์ที่ใช้อินทรี ก็จะมีตราอินทรีติดอกข้างซ้ายตามไปด้วย โดยทีมชาติเยอรมนีมีอินทรีบนหน้าอกมาตั้งแต่ปี 1908 เลยทีเดียว


ส่วนทีมชาติในยุโรปอื่น ๆ ที่ใช้อินทรีเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ รัสเซีย มอลโดวา และมอนเตเนโกร 


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง



ที่มาภาพ: Canva, Getty Images 



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง