รีเซต

อวตารินทร์ (Avatarin) เปิดโอกาสให้ผู้คนไปยังสถานที่ต่าง ๆ ผ่านร่างหุ่นยนต์อวตารเสมือนจริง

อวตารินทร์ (Avatarin) เปิดโอกาสให้ผู้คนไปยังสถานที่ต่าง ๆ ผ่านร่างหุ่นยนต์อวตารเสมือนจริง
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2565 ( 17:12 )
127
อวตารินทร์ (Avatarin) เปิดโอกาสให้ผู้คนไปยังสถานที่ต่าง ๆ ผ่านร่างหุ่นยนต์อวตารเสมือนจริง

อวตารินทร์ (Avatarin) บริษัทเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์อวตารเสมือนจริงกำลังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ผ่านร่างหุ่นยนต์อวตารเหมือนจริงผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้น ๆ ด้วยตัวเอง


บริษัทให้ความร่วมมือกับบริษัทเอกชนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ในปี 2019 บริษัทร่วมมือกับสายการบินญี่ปุ่น ANA Holdings Ins. เปิดโอกาสให้ลูกค้าสายการบินสามารถซื้อสินค้าในร้าน Unman Shop ผ่านหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับพนักงานขายได้ด้วยตัวเอง 


ในปี 2020 บริษัทอวตารินทร์ (Avatarin) ได้ร่วมมือกับบริษัท Sony AI เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลในโครงการริเริ่มวิจัยและพัฒนา เพื่อการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น 2050 (Moonshot Research & Development Program 2050) เพื่อส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์ควบคุมหุ่นยนต์ได้หลายตัวในเวลาเดียวกันเพื่อการสื่อสารและทำภารกิจต่าง ๆ


นอกจากนี้ในปี 2020 บริษัทอวตารินทร์ (Avatarin) แห่งนี้ยังได้ร่วมมือกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เพื่อพัฒนาโครงการร่างอวตารเสมือนจริงบนอวกาศ (Space Avatar) โดยทดสอบเทคโนโลยีร่างอวตารบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์บนโลกกับนักบินอวกาศในโมดูลห้องทดลองคิโบ (KIBO) ที่สร้างโดยประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้นแต่เป็นบันไดสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการสื่อสารผ่านร่างหุ่นยนต์อวตารระหว่างมนุษย์ที่บนโลกและนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศหรือบนดวงจันทร์ในอนาคต


สำหรับเป้าหมายในระยะแรก ๆ ปัจจุบันบริษัทได้เปิดใช้งานเทคโนโลยีร่างหุ่นยนต์อวตารแล้ว โดยหุ่นยนต์มีความสูงประมาณ 1.5 เมตร เชื่อมต่อหน้าจอแสดงผลเป็นรูปใบหน้ามนุษย์ผู้ควบคุมหุ่นยนต์ ระบบการควบคุมหุ่นยนต์ใช้การควบคุมจากระยะไกลสามารถเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้ควบคุม โดยผู้ควบคุมสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนปกติทั่วไปในการเชื่อมต่อสั่งการทำงานหุ่นยนต์


ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีร่างหุ่นยนต์อวตาร เช่น การช้อปปิ้งซื้อสินค้าดังตัวอย่างการใช้งานในร้าน Unman Shop ที่กล่าวมาข้างต้น การเดินทางสำรวจพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอกินาว่า ชูราอุมิ ขณะที่ผู้ควบคุมหุ่นยนต์ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลช่วงการระบาดของ COVID-19 หรือเป็นผู้พิการที่ไม่สามารถเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำได้ด้วยตัวเอง 


การส่งกำลังใจให้นักกีฬาที่เดินทางไปแข่งขันกีฬาในต่างประเทศ การแข่งขันตอบคำถามด้านวิชาการโดยผู้เข้าแข่งขันไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง และการทำงานร่วมกันของบริษัทที่มีการตั้งสาขาย่อยของสำนักงานในต่างประเทศ นี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนของความพยายามในการสร้างสังคมโลกเสมือนจริงของบริษัทอวตารินทร์ (Avatarin) เท่านั้น




ที่มาของข้อมูล about.avatarin.com 

ที่มาของรูปภาพ facebook.com/avatarin.inc

ข่าวที่เกี่ยวข้อง