รีเซต

สุดยอดเยาวชนไทย กวาด 11 รางวัล บนเวที "REGENERON ISEF 2025" ที่สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อเสียงระดับโลก !

สุดยอดเยาวชนไทย กวาด 11 รางวัล บนเวที "REGENERON ISEF 2025" ที่สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อเสียงระดับโลก !
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2568 ( 19:12 )
10

เยาวชนไทยคว้ารางวัลจากเวทีการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2025 (Regeneron International Science and Engineering Fair 2025) จัดโดย Society for Science ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 


โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งทีมเยาวชนไทย จำนวน 14 ทีม เข้าร่วมชิงชัยกับทีมเยาวชน 66 ประเทศทั่วโลก ราว 1,700 คน ในระหว่างวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา 


ผลการแข่งขันฯ ปรากฏว่า รร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัลที่ 1 สาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ กับ โครงงาน“ไอเบรลล์ : การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ” ที่พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้เบรลล์โดยใช้ AI ส่งเสริมความเท่าเทียมทั่วโลก!  ร้อมทีมเยาวชนไทยสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วยการกวาดมาทั้งหมด 11 รางวัล

ผลงานเยาวชนสามารถคว้ารางวัล REGENERON ISEF 2025 ดังนี้ 

รางวัล Grand Award อันดับที่ 1 พร้อมเงินรางวัล 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ 

- โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในสาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ กับ โครงงานไอเบรลล์ : การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยมี นายศิวกร สุวรรณหงส์ นายปัณณวิชญ์ พลนิรันดร์ และน.ส.ศตพร ธนปัญญากุล เป็นผู้จัดทำโครงงาน นางรุ่งกานต์ วังบุญ และ นายกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นครูที่ปรึกษา 

รางวัล Grand Award อันดับที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 2 รางวัล ได้แก่ 

- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน การพัฒนานวัตกรรมฟองน้ำชีวภาพเพื่อลดพฤติกรรมการกินกันเอง สำหรับการอนุรักษ์ปูม้า และระบบนิเวศชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมี นายพิสิษฐ์ อาศิระวิชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน  น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ และนายอดิเรก พิทักษ์ เป็นครูที่ปรึกษา 

- โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ กับ โครงงานการศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ โดยมี น.ส.พิมพ์พันดาว พุทธรักษ์ขิต และ นายธรรมพิสุทธิ์ เปรมสิงห์ชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.คณัสนันท์ พลรัตน์ และ ดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัล Grand Award อันดับที่ 3 พร้อมเงินรางวัล 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่

- โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิกโดยมี นายปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน น.ส.วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์ และ นายกฤตนน เมืองแก้ว เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา 

- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์  กับโครงงานการเพิ่มประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยในการควบคุมศัตรูพืชแบบชีวภาพ โดยมี นายบุริศ เบญจรัตนานนท์ และนายปภาวิน คงคติธรรม เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม และ น.ส.สุวรรณา อัมพรดนัย เป็นครูที่ปรึกษา 

- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานนวัตกรรมสูตรอาหารและปัจจัยแวดล้อม เพื่อการเพาะเลี้ยงแมลงดานาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายกษิเดช ศรีสุข น.ส.ธัญวรัตม์ จาตุรนต์ และนายพฤทธชาต คงสวัสดิ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ เป็นครูที่ปรึกษา


รางวัล Grand Award อันดับที่ 4 พร้อมเงินรางวัล 600 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 2 รางวัล ได้แก่

- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต กับโครงงานการพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของพลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล โดยมี นายกฤตยชญ์ ไทยสุริยันต์ นายปราชญ์ อำพนธ์ และ น.ส.ปาณิศา สว่างสุรีย์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.สุภานันท์ สุจริต เป็นครูที่ปรึกษา 

- โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานนวัตกรรมใหม่แบบผสานวิธีเพื่อการขยายพันธุ์ และการอนุรักษ์ชันโรงดิน (Tetragonula collina) โดยมี นายธนวัฒน์ สมญาพรเจริญชัย นายธนกร สาคุณ และ นายณัฐชพน วงศาโรจน์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายสุธิพงษ์ ใจแก้ว และ นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร์ เป็นครูที่ปรึกษา 

ขณะเดียวกันทีมเยาวชนไทยยังสามารถคว้ารางวัล Special Awards ได้อีก 3 รางวัล ได้แก่ 


- โรงเรียนกําเนิดวิทย์ จ.ระยอง คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จาก  TUBITAK The Scientific and Technological Research Council of Türkiye พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ  กับโครงงานการศึกษากระบวนการภายในของสมบัติการแปรเปลี่ยนด้วยแสงของธาตุวานาเดียมที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพภาวะความไม่ชอบน้ำของฟิล์มชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง  โดยมี นายปองภพ แสงสว่าง น.ส.ชญาดา วิสุทธิรัตนมณี และ น.ส.ณิชาพัฒน์ อึ้งอารี เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.ยุติชัย เหมือนเงิน ประทีปะเสน และ นางณัฐพุทธิญา ชวนะลิขิกร เป็นครูที่ปรึกษา

- โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 2 จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society พร้อมเงินรางวัล 800 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก โดยมี นายปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน น.ส.วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์ และนายกฤตนน เมืองแก้ว เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา

- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จ.เชียงราย คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 4 จาก American Chemical Society พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงานการสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินที่สกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายยาวซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด โดยมี นายธนัช ไชยมงคล เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายธีรพัฒน์ ขันใจ และ รศ.ดร.บุษยรัตน์ ธรรมพัฒนกิจ เป็นครูที่ปรึกษา


โดยทีมเยาวชนไทยจะเดินทางกลับจากการแข่งขันถึงประเทศไทยในวันที่ 19 – 21 พ.ค. นี้  สามารถติดตามข่าวสารและร่วมแสดงความยินดีได้ที่เพจ FB: NSMTHAILAND 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง