รีเซต

TNN Exclusive : บทเรียน “ไททัน” ความเสี่ยงใต้ท้องทะเลลึก

TNN Exclusive : บทเรียน “ไททัน” ความเสี่ยงใต้ท้องทะเลลึก
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2566 ( 15:37 )
55

รองศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อธิบายการระเบิดแบบ Implosion ว่า ปกติจะได้ยินคำว่า explosion แปลว่าการระเบิดจากข้างในออกไปข้างนอก แต่ Implosion เป็นทางตรงกันข้าม จากแรงกดข้างนอกเข้ามาด้านใน กรณีของยานดำน้ำไททัน เกิดจากแรงกดจากน้ำทะเลกระทำตัวยาน จะเกิดได้ต้องเป็นที่ใต้ทะเลลึก ในกรณีของนักดำน้ำทั่วๆไปอาจเกิดได้ยากมาก .. “เพราะเราดำลงไปที่ความลึกไม่ถึง”




ปกติมนุษย์ดำน้ำทะเลได้ลึกสุดแค่ไหน ?


รศ.ดร.ธรณ์ระบุว่า ขอบเขตของทะเลลึก เริ่มจากความลึก 200 เมตร เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์เริ่มหมดไปแสงที่ความลึกนั้นเหลือไม่ถึงร้อยละ1เนื่องจากน้ำดูดกลืนแสงเมื่อลงไปถึง 1000 เมตร จะไม่มีแสงใดเหลืออยู่เลย ซึ่งการที่มนุษย์จะดำน้ำทะเลได้ลึกแค่ไหน แบ่งออกเป็นสองกรณี คือ


-กรณีแรกใช้ถังอากาศ จะสามารถดำได้ลึกตั้งแต่ 18 เมตร จนถึงประมาณ 25 เมตร แต่หากฝึกฝนเป็นอย่างดีก็อาจสามารถดำน้ำได้ลึก ที่ประมาณ 40 เมตร การดำน้ำด้วยถังอากาศทำให้สามารถหายใจได้ในท้องทะเลลึก



-กรณีที่สอง การดำตัวเปล่า หรือที่เรียกว่า Free Diving ที่นักดำน้ำจะใช้การสูดอากาศจากด้านบนเข้าไป ซึ่งในนักดำน้ำที่ฝึกฝนมาอย่างดี จะสามารถดำลงไปใต้ทะเลได้ลึกกว่าการใช้ถังได้ถึง 100 เมตร



“ภาวะหลงน้ำ” .. ความเสี่ยงใต้ท้องทะเล 


รศ.ดร.ดร.ธรณ์ บอกว่า อันตรายจากการดำน้ำมักจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ หรือ เหตุการณ์ไม่คาดคิดมากกว่าหากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันในท้องทะเลโอกาสเสียชีวิตมีสูง นอกจากนี้อาจจะมีภาวะที่เรียกว่า "ภาวะหลงน้ำ" หรือ Into the Blue



“พื้นก็ไม่เห็น ทุกอย่างเป็นสีฟ้าไปหมด หลงน้ำหลงทิศ จนเกิดความกลัว สติแตก รีบขึ้นจากน้ำเร็วเกินไป หายใจออกไม่ทัน หรือมีการกลั้นหายใจ ทำให้ปอดขยายตัวจากแรงดันที่มีความแตกต่าง แย่ที่สุดปอดอาจฉีก เป็นอันตรายต่อชีวิต”






บทเรียน “ยานดำน้ำไททัน” ให้อะไรบ้าง ?


และจากเหตุการณ์ยานดำน้ำไททัน รศ.ดร.ธรณ์ ถอดบทเรียนโดยย้ำว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และยิ่งเป็นอุบัติเหตุทางท้องทะเล ยิ่งอาจอันตรายถึงชีวิต ทางที่ดีที่สุดคือการไม่ประมาท อุปกรณ์ ยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำ หรือ เรือบนน้ำ เครื่องไม้เครื่องมือใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมบนหรือใต้ท้องทะเล ต้องมีการตรวจสอบ เช็คสภาพความพร้อมตลอดเวลา ภายใต้การประเมินความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และวางแผนแก้ไขหากเผชิญปัญหา




เรียบเรียงโดย : จิตฤดี บรรเทาพิษ  บรรณาธิการ TNN ข่าวเย็น

ภาพ : TNN ข่าวเย็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง