รีเซต

NASA จำลองอาการเมาอวกาศด้วยเครื่องปั่น ‘Kraken’ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ

NASA จำลองอาการเมาอวกาศด้วยเครื่องปั่น ‘Kraken’ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2566 ( 09:57 )
98
NASA จำลองอาการเมาอวกาศด้วยเครื่องปั่น ‘Kraken’ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ


นอกจากอาการเมารถ, เมาเรือและเมาเครื่องบินแล้ว มีอีกอาการหนึ่งที่เรียกว่า ‘เมาอวกาศ’ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในนักบินอวกาศขณะเดินทางขึ้นสู่อวกาศและขณะเดินทางกลับสู่พื้นโลก โดยนาซา (NASA) ได้ใช้เครื่องหมุนของกองทัพสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า ‘คราเคน (Kraken)’ สำหรับจำลองอาการเมาอวกาศเพื่อทำความเข้าใจอาการที่นักบินอวกาศหลายคนต้องเผชิญ


เครื่องหมุนคราเคน (Kraken) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ 

สำหรับคราเคนเป็นแท่นขนาดใหญ่มีน้ำหนัก 100 ตัน และยาว 15 เมตร ตั้งอยู่ที่ฐานทัพอากาศไรท์-แพตเตอร์สัน (Wright-Patterson Air Force Base) ใกล้กับเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความสามารถในการเคลื่อนที่ได้ 6 ทิศทาง จึงทำให้มันสามารถจำลองสภาพภายในยานอวกาศขณะเดินทางขึ้นสู่อวกาศและขณะเดินทางสู่พื้นโลกได้

ในการศึกษาครั้งนี้ นาซาจะให้อาสาสมัครจำนวน 24 คน อยู่ในเครื่องหมุนเป็นเวลา 60 นาที จากนั้นคราเคนจะหมุนด้วยความเร่งถึง 3 เท่า ของแรงโน้มถ่วงโลก 


การศึกษาอาการเมาอวกาศ 

เมื่อออกจากเครื่อง อาสาสมัคร 12 คน จะทำการหันศีรษะและเอียงตามที่กำหนดในขณะที่สวมแว่นตาวิดีโอที่ติดตามการเคลื่อนไหวของศีรษะและดวงตา โดยจะวัดค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการเมาอวกาศ เช่น จำนวนครั้งที่กะพริบตาและการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ อาสาสมัครจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่สับสนและไม่สบายด้วย

หลังจากนั้นอาสาสมัครทั้ง 24 คน จะทดสอบการทรงตัวด้วยการยืนบนโฟมแบบลืมตาและหลับตา, ทดสอบเดินเป็นระยะทางทั้งหมด 10 เมตร ในเวลา 2 นาที และทดสอบการเดินข้ามสิ่งกีดขวาง


หากนาซาสามารถทำความเข้าใจและแก้อาการเมาอวกาศที่นักบินอวกาศเผชิญได้ วิธีการเดียวกันนี้อาจนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวบนโลกได้ด้วย เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนำเนื้องอกออกจากหูชั้นใน ซึ่งส่งผลให้เส้นประสาทส่วนกลางสำหรับรักษาสมดุลเสีย จนก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ่อยครั้ง

ข้อมูลและภาพจาก NASA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง