RATCHชูหมื่นเมกะวัตต์ เป้ามูลค่ากิจการ2แสนล.
ทันหุ้น – RATCH ส่งไม้ต่อ “ชูศรี เกียรติขจรกุล” นั่งซีอีโอคนใหม่ สานต่อภารกิจเป้าหมายกำลังผลิต 10000 เมกะวัตต์ พร้อมผลักดันมูลค่ากิจการแตะ 2 แสนล้านบาท ลุยพลังงานทดแทนวางเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 250 เมกะวัตต์ต่อปี เดินหน้าสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งสปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รุกธุรกิจเฮลธ์แคร์, ร่วมประมูลโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (PPP Scheme) ของรัฐต่อยอดโต
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนที่ 7 และเป็นผู้นำสุภาพสตรีคนแรกขององค์กร ที่จะเข้ามาสานต่อภารกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร เสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร และพัฒนายกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยบริษัทมีเป้าหมายในปี 2568 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 10000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายมูลค่ากิจการไว้ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 120,830 ล้านบาท จากการมุ่งพัฒนาโครงการด้านพลังงานเพื่อให้มีรายได้และสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง รวมทั้งสร้างผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้บริษัทยังได้กระจายการลงทุนไปยังโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในระยะยาว โดยกำหนดเป้าหมายไว้ปีละ 5% ของงบลงทุน
*ขยายฐานต่างประเทศ
อีกทั้งยังสามารถสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศล่าสุด และยังมีการศึกษาการลงทุนในฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และบังกลาเทศด้วย ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศเป็นประมาณ 50% จากปัจจุบัน 37% ส่วนในประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 63% และจะผลักดันสัดส่วนพลังานทดแทนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 15 % เป็นเกิน 25% หรือ 2500 เมกะวัตต์ ในปี 2568 โดยปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่หลายโครงการ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 250 เมกะวัตต์ต่อปี
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ กล่าวว่ายืนยันที่จะสานต่อโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าให้บรรลุ 700 เมกะวัตต์ และการขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า SPP, IPS และพลังงานทดแทนในประเทศ โดยบริษัทเตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน ประเทศอินโดนีเชีย กำลังการผลิตราว 900 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 25,421 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ยังเตรียมปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 2 ดีล ในไตรมาส 4/2564 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่า 1,500 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติและชีวมวลในไทย อีกราว 4,500 ล้านบาท จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1000 เมกะวัตต์ โดยวางงบลงทุนรวมทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวไว้ที่ 31,000 ล้านบาท และส่งผลให้สิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 9000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8292 เมกะวัตต์
*ธุรกิจเฮลธ์แคร์สร้างกำไร
ด้านธุรกิจระบบ สาธารณูปโภคพื้นฐานและอื่นๆ บริษัทจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ โดยที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการไปแล้วคือ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ หรือเฮลธ์แคร์ ที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปลงทุนบริษัท พริ้นซิเพิล แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ซึ่งมีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังศึกษาลงทุนโครงการใหม่ในหัวเมืองหลักอีก 2-3 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา พร้อมกันนี้ร่วมทุนกลุ่ม BCH ในการทำโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เวียงจันทน์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะขยายในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต เช่น หลวงพระบาง จำปาสัก เป็นต้น เพื่อต่อยอดการเติบโตต่อไป
ขณะเดียวกันยังมองโอกาสในการการเข้าร่วมประมูลโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (PPP Scheme) ของภาครัฐ อย่างที่ผ่านมาได้มีการเข้าประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเริ่มรับรู้รายได้หลังโครงการแล้วเสร็จ และหากมีโครงการใดที่มีความน่าสนใจเปิดประมูลก็มีโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลด้วย และการลงทุนด้านนวัตกรรมร่วมกับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะมุ่งเน้นการเข้าไปร่วมลงทุน (JV)