สรรพสามิตดัน”สุราชุมชน”แก้ระเบียบถัง Keg ขายนอกโรงเบียร์
สรรพสามิตดัน”สุราชุมชน”แก้ระเบียบถัง Keg ขายนอกโรงเบียร์ โดยจะเสนอครม.อนุมัติร่างแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการผลิตสุราชุมชนภายในต้นปีหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น
#ทันหุ้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต จะผลักดันร่างแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการผลิตสุราขนาดเล็กหรือสุราชุมชน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนม.ค.2568และคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในไม่เกินกลางก.พ.2568
เขากล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมสุราชุมชนด้วยการลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจสุรารายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม “สุราชุมชน” ให้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรา ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพ ช่วยยกระดับรายได้ของชุมชนและส่งเสริมการใช้ผลผลิตภายในประเทศมาต่อยอดได้
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะปรับปรุง ประกอบด้วย การขยายโอกาสให้โรงเบียร์ Brew Pub และคราฟต์เบียร์ สามารถบรรจุถัง Keg ออกขายนอกสถานที่ได้ จากเดิมที่ไม่สามารถนำออกจำหน่ายนอกสถานที่ได้ โดยจะต้องบรรจุในถังบรรจุเบียร์หรือถัง Keg ขนาดบรรจุไม่ต่ำกว่า 20 ลิตร นอกจากนี้ ยังจะเปิดให้โรงงานเบียร์ขนาดเล็ก ปรับขึ้นเป็นโรงงานขนาดกลางได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการเป็นโรงงานขนาดเล็กมาไม่น้อยกว่า 1 ปีตามกฎเกณฑ์ในปัจจุบัน
สำหรับโรงงานผลิตสุราในชุมชนทั้งที่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง ( ส่วนใหญ่เป็นเหล้าขาว) กฎเกณฑ์เดิม จะต้องตั้งโรงงานห่างไกลจากแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 100 เมตร ได้ยกเลิกเงื่อนไขนี้ แต่โรงงานสุราชุมชนจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตัวเองตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
“การยกเลิกเงื่อนไขนี้ นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชุมชนที่จะตั้งโรงงานผลิตสุราในชุมชนแล้ว ยังทำให้ชุมชนสามารถใช้แหล่งน้ำในชุมชน ให้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสุรา ซึ่งจะกลายเป็น Story ของสุราชุมชน”
เขากล่าวว่า กรมสรรพสามิตต้องการลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตรายย่อยและรายกลาง เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการพัฒนาสุราชุมชน ซึ่งกรมสรรพสามิตจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
เขากล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงงานสุราขนาดเล็กและขนาดกลาง มีโอกาสในการแข่งขันยังไม่เท่ากับผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ ซึ่งการขจัดข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจนี้มากขึ้น
ปัจจุบันการแบ่งขนาดของโรงงานสุราในประเทศ ที่เป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เป็นการแบ่งโดยอาศัยขนาดของแรงม้าของเครื่องจักรในการผลิต โดยหาก เป็นขนาดไม่เกิน 5 แรงม้า หรือมีคนงานไมเกิน 7 คน จะถือเป็นโรงงานผลิตขนาดเล็ก ,หากมากกว่า 5 แรงงานจนถึง 50 แรงม้า ถือเป็นโรงงานขนาดกลาง และตั้งแต่มากกว่า 50 แรงม้า เป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ ในส่วนของอัตราภาษีนั้น ใช้เป็นอัตราภาษีเดียวทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เช่น สุราขาว อัตราภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ 2 % และอัตราภาษีตามปริมาณ อยู่ที่ 155 บาท/ลิตร