รีเซต

สภาพัฒน์ฯ เผยไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80 เปอร์เซ็นต์

สภาพัฒน์ฯ เผยไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80 เปอร์เซ็นต์
มติชน
22 กันยายน 2563 ( 07:53 )
175

สภาพัฒน์ฯ เผยไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80% คนจนมีโอกาสเรียน ป.ตรีแค่ 3%

 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในการประชุมประจำปี 2563 ในเรื่อง ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน

 

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดการเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศ เกิดการย้านฐานการผลิต ทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็กลับภูมิลำเนา จึงกลับมาทบทวนเพื่อหาจุดแข็งในการผลักดันเพิ่ม และแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น โดยเฉพาะการกระจายความเจริญออกไปในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะพยายามใช้เงินกู้ที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนตามแผนงาน สำหรับเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ แบ่งเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 ได้รับการอนุมัติแล้ว 9.2 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการเบิกจ่าย ส่วนเม็ดเงินที่เหลือจะทยอยออกในไตรมาส 4/2563 และไตรมาส 1-2 ปี 2564 ซึ่งจะทยอยออกมาเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากใช้เงินหมดภายในครั้งเดียว จะไม่เหลือเงินใช้ในอนาคต

 

“กรณีการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง มองว่าหากมีปัจจัยความไม่แน่นอนอะไรเข้ามา ก็จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากการเมืองไม่นิ่ง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกครั้ง จะทำให้การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ยากขึ้นไปอีก จึงอยากให้ทุกอย่างนิ่งก่อนสักระยะ เพื่อช่วยกันผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นก่อน หลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็กลับมาประเมินกันอีกครั้ง โดยวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมหารือในโครงการกระตุ้นการจ้างงาน ผ่านการออกเงินร่วมกันของเอกชนและรัฐคนละครึ่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 กันยายน” นายทศพรกล่าว

 

ระดมกึ๋นทำแผน13สู่นิวนอร์มอล

นายทศพรกล่าวว่า สศช.จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีนี้ เนื่องจากเป็นระยะครึ่งทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ.2561-2565) สศช.ได้ติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยมีการวิเคราะห์และรายงานผลการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลการพัฒนาตามตัวชี้วัดที่สำคัญต่างๆ ที่กำหนดในแผน 12 ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีการพัฒนาต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุง และบริหารจัดการภารกิจที่รับผิดชอบ ทั้งในส่วนกลาง ระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

“ที่สำคัญในปีนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาและการดำรงชีวิตของคนไทยต้องเปลี่ยนแปลง และพลิกโฉมจากเดิมไปอย่างมาก ดังนั้น นอกจากการนำเสนอผลการพัฒนาที่ผ่านมาแล้ว การประชุมในวันนี้จึงจะเป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกัน เกี่ยวกับประเด็นความท้าทาย และแนวทางการปรับตัวของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ชีวิตวิถีใหม่ (นิว นอร์มอล) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี รวมถึงสภาพัฒน์จะนำผลการประชุมในครั้งนี้ ไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญในการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และวางกรอบการพัฒนาประเทศฉบับที่ 13 ต่อไป” นายทศพรกล่าว

 

พบคนจนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี60

นายทศพรกล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา หากประเมินจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย นับตั้งแต่ปี 2540-2563 ค่าเฉลี่ยการเติบโตอยู่ประมาณ 3% แต่เมื่อเจอผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจลง โดยสภาพัฒน์ประเมินจีดีพีไทยจะติดลบ 7.3% ถึงติดลบ 8% เนื่องจากประเทศไทยอาศัยรายได้จากต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เมื่อปัจจัย 2 ตัวนี้หายไป เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง รวมถึงหากประเมินจากอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ไทยยังย่ำอยู่กับที่ โดยเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แม้จะตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียน แต่ก้าวข้าวมาเลเซียก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 63 ประเทศ

 

“การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน ส่งผลกระทบหลายส่วน อาทิ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน พร้อมทั้งการส่งออกที่ปรับตัวลดลง มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ปรับตัวลดลง จากเดิมที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากพอสมควร และอัตราการว่างงาน ที่จากเดิมอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% หรือประมาณ 400,000 คน แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ก็มีผู้ว่างงานเพิ่มมา 2% หรือประมาณ 750,000 คน เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 40% เมื่อเกิดโควิด-19 หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้น เพราะรัฐต้องกู้เงินมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย แม้ดูจะดีขึ้นจากปี 2550-2561 แต่จำนวนคนยากจนในปี 2560-2563 มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นมาในช่วง 3 ปีหลัง นายทศพรกล่าว

 

ช่วง10ปียังรวยกระจุกจนกระจาย

นายทศพรกล่าวว่า ด้านหนี้สินครัวเรือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550-2563 จะเห็นจำนวนสะสมของหนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี แต่ข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือน จากพฤติกรรมของคนไทย พบว่ากว่า 20% เป็นการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลในการทำธุรกิจ ส่วนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย พิจารณาในส่วนของผู้ที่มีรายได้มากที่สุดแตกต่างจากผู้ที่มีรายได้น้อยสุดกว่า 20 เท่า โดยมีกลุ่มคนชนชั้นกลางอยู่ประมาณ 35% สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง รวมถึงการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในส่วนของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พบว่าคนรวยมีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี 65.6% สูงกว่าคนจนที่มีเพียง 3.8% และยังพบว่าคนในเขตเมือง พื้นที่กรุงเทพฯ มีการเข้าถึงระบบการศึกษาได้สูงกว่าในเขตชนบทหรือนอกกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นช่องว่างที่ห่างกันกว่า 17.3 เท่า

 

นอกจากนี้ แม้การบริหารราชการแผ่นดินจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ยังเป็นวิกฤตที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขด้วย โดยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง