รีเซต

โควิดทุบ ‘ธุรกิจไมซ์’ ทรุดยาว คาดฟื้นอีกทีปี 65 หลังระบาดรอบ 3 ทำงานประชุม-แสดงสินค้าจอดสนิท

โควิดทุบ ‘ธุรกิจไมซ์’ ทรุดยาว คาดฟื้นอีกทีปี 65 หลังระบาดรอบ 3 ทำงานประชุม-แสดงสินค้าจอดสนิท
มติชน
2 มิถุนายน 2564 ( 07:22 )
89

 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ขึ้นในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการจัดประชุมองค์กร การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัด ประชุมนานาชาติ และการจัดแสดงสินค้า (ธุรกิจไมซ์) ต้องหยุดชะงักไป โดยเบื้องต้นประเมินว่า ภาพรวมตลาดไมซ์ต่างประเทศยังคงมีความท้าทายสูงมาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด และความพร้อมในการเปิดประเทศรับต่างชาติของไทย ซึ่งในปีนี้ทั้งปี คาดว่าต่างชาติจะยังเดินทางได้ไม่เต็มที่มากนัก แนวโน้มจะทยอยกลับมาในปี 2565 ท่ี 25% ปี 2566 ท่ี 50% ปี 2567 ท่ี 70% และต้องรอจนถึงปี 2568 ตลาดไมซ์ต่างชาติจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 80% หรือเทียบเท่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิดระบาดได้ ส่วนการเดินทางของตลาดไมซ์ในประเทศ เป้าหมายหลักในการกระตุ้นตลาดในช่วงแรก และพัฒนาต่อยอดให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดต่างประเทศเพียงอย่างเดียว โดยเน้นการประชุมสัมมนาภาครัฐและเอกชน เป็นกลไกขับเคลื่อนพร้อมกับการจ้างงานและกระจายงานสู่ภูมิ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการให้ดลับมาเข้มแข็งมากขึ้นได้ โดยตลาดในประเทศจะเริ่มผลักดันแคมเปญกระตุ้นตลาดเพิ่มเติม อาทิ ประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า จึงคาดว่าในปี 2564 ตลาดไมซ์ในประเทศจะกลับมาท่ี 35% ปี 2565 ท่ี 60% ปี 2566 ท่ี 80% ปี 2567 กลับเข้าสู่ภาวะปกติท่ี 100% และปี 2568 เชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตขึ้นเป็น 110%

 

 

นายจิรุตถ์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจไมซ์ตลาดต่างประเทศ ในครึ่งแรกปี 2564 ลดลง 90% สอดคล้องกับปี 2563 ที่ลดลง 90% เช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ ส่วนธุรกิจไมซ์ตลาดในประเทศ ครึ่งแรกปี 2564 ลดลง 60% เพราะหลังจากคุมการระบาด 2 รอบที่ผ่านมาได้ มีการเดินทางฟื้นตัวกลับมา มีโครงการกระตุ้นออกมา คือ ประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ที่รัฐสนับสนุนให้จัดงานประชุมสัมมนา ผ่านการสมทบเงินจัดงานที่ 15,000-30,000 บาท ทำให้ยังเกิดการจัดงานและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้ จึงเห็นตัวเลขรายได้ที่ยังวิ่งอยู่ โดยจากข้อมูลในวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ขอรับการสนับสนุน 148 โครงการ ที่มีแผนจัดงานประชุมสัมมนา แบ่งเป็นจัดงาน 1 วัน จำนวน 95 โครงการ และจัดงาน 2 วัน จำนวน 53 โครงการ แยกเป็นรายภูมิ ได้แก่ ภาคใต้ 80 โครงการ ภาคกลาง 53 โครงการ ภาคเหนือ 7 โครงการ และภาคอีสาน 8 โครงการ ซึ่งเป็นตัวเลขโครงการของผู้ที่แสดงความต้องการจัดงานผ่านเว็บไซต์ไทย ไมซ์ คอนเน็ค ซึ่งเป็นตัวแทนในเชื่อมโลกการค้าระหว่างผู้ประกอบการ และผู้ต้องการจัดงานประชุมและงานอีเวนท์ในประเทศไทย

 

 

“การเปิดภูเก็ตโมเดลรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการกระตุ้นและดึงต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่ม เนื่องจากสามารถทำตลาดดึงนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศเข้ามาเพิ่มได้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มที่กลับมาได้ก่อน จะเป็นกลุ่มลูกค้าบริษัท นิติบุคคล ที่เดินทางกันมาเป็นหมู่คณะ (คอร์ปอเรท) โดยแนวโน้มของธุรกิจไมซ์ในระยะถัดไป จะเน้นการจัดงานแบบระบบไฮบริด ที่สามารถรองรับผู้มาร่วมประชุมในห้องจริง และเปิดลงทะเบียนให้ผู้สนใจร่วมประชุมทางออนไลน์ รวมถึงการจำลองภาพจัดงานอีเว้นท์แบบเสมือนจริง ซึ่งจะกลายเป็นรูปแบบการจัดงานที่ปกติมากขึ้น และเน้นความปลอดภัยด้านสาธารณสุขมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นผลมาจากการระบาดโควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทดแทนการจัดงานจริงๆ ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังต้องการสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง เจอหน้าพันธมิตรธุรกิจ หรือจับต้องสินค้าจริง” นายจิรุตถ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง