รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (20 เม.ย.2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (20 เม.ย.2565)
TeaC
20 เมษายน 2565 ( 19:42 )
336
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (20 เม.ย.2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดยูเครนประกาศจะต่อสู้จนถึงที่สุดในเมืองมารีอูโปล หลังเส้นตายให้วางอาวุธของรัสเซียสิ้นสุดลง อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (19 เม.ย.2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (20 เม.ย.2565)

 

รัสเซียจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กำลังทหารที่ประจำการอยู่ในอาร์กติก พื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือ

เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย กล่าวในที่ประชุมที่กรุงมอสโกว่า รัสเซียจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กองกำลังทหารที่ประจำการในอาร์กติก ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งรัสเซียได้เสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กองกำลังทหารที่ประจำการในอาร์กติก เป็นกองกำลังที่ทันสมัย

 

ขณะเดียวกัน ชอยกูชื่นชมกองทัพรัสเซียที่มีระบบการสื่อสารแบบใหม่และมีขีปนาวุธร่อน “คาลิบร์” กับ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง “คินซาล” ในครอบครอง ซึ่งขีปนาวุธ 2 ชนิดนี้ มีความแม่นยำสูง และทำให้กองทัพรัสเซีย มีขีดความสามารถในการสู้รบสูงมาก 
กองทัพรัสเซียได้สร้างอาคารและป้อมปราการ 117 แห่งในอาร์กติกเมื่อปี 2021 และปี 2022 รัสเซียจะมอบอาวุธทันสมัยกว่า 500 ชิ้นให้แก่กองบัญชาการทัพเรือภาคเหนือ (Northern Fleet) ซึ่งเป็นกองเรือที่ทรงอำนาจที่สุดของรัสเซีย รวมทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพอากาศ, ฐานทัพของทหารราบ, ขีปนาวุธ, และเรดาร์ นอกเหนือไปจาก อู่เรือของกองทัพเรือ และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

 


IMF ลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเกือบ 1% จากวิกฤตในยูเครน 

IMF ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดว่า วิกฤตนี้คาดว่าจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอีก ขณะเดียวกันก็เตือนว่า การคาดการณ์ของ IMF มี “ความไม่แน่นอนสูงอย่างผิดปกติ”

 

มาตรการคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซีย และวิกฤตที่กำลังลุกลาม, การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในจีน และการปะทุระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกช้าลงและส่งเสริมอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ราคาที่สูงขึ้นอาจจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบทางสังคม

 

IMF ซึ่งปรับลดการคาดการณ์ของเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งที่ 2 แล้วในปีนี้ ระบุว่า ขณะนี้ IMF คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.6% ในปี 2022 และ 2023 ลดลง 0.8% และ 0.2% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

 

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกระยะกลาง คาดว่า จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.3% เมื่อเทียบกับเฉลี่ย 4.1% ในช่วงเวลาเดียวกันจากปี 2004 ถึง 2013 และโต 6.1% ในปี 2021

 

ปิแอร์-โอลิวิเย กูแรงชาส ประธานนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นเพราะการบุกยูเครนของรัสเซีย คาดว่าวิกฤตจะเร่งภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกำลังพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด จนทำให้จีนต้องใช้มาตรการจำกัดพื้นที่ครั้งล่าสุด ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน  

 

IMF บอกว่า สงคราม ซึ่งรัสเซียระบุว่า เป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมเลวร้ายในยุโรปตะวันออก มีชาวยูเครนประมาณ 5 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย และหลบหนีเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน

 

ทั้งรัสเซียและยูเครนคาดว่าจะประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งพึ่งพาพลังงานของรัสเซียอย่างสูง ก็คาดว่าการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปี 2022 ลดลงประมาณ 1.1%

 

สำหรับในปี 2022 IMF คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 5.7% ใปประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า และ 8.7% ในประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มขึ้น 1.8% และ 2.8% จากการคาดการณ์ในเดือนมกราคม

 

 

เลขาธิการยูเอ็นระบุ ชาวยูเครนกว่า 12 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น กล่าวเมื่อวานนี้ (19 เมษายน) ว่า ชาวยูเครนกว่า 12 ล้านคน กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พวกเขาไม่มีอาหาร น้ำ และยาเพื่อรักษาผู้ป่วยหรือบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งเพียงเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน

 

พร้อมกับเรียกร้องการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมนาน 4 วันในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ของศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ เพื่อเปิดเส้นทางที่ปลอดภัยให้แก่ชาวยูเครน สามารถอพยพออกจากพื้นที่ขัดแย้งได้ และเปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักจากการสู้รบได้

 

คาดว่าจะสามารถเริ่มส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปยังภูมิภาคโดเนตสก์ ทางตะวันออกของยูเครนก่อนเป็นจุดแรก ก่อนจะกระจายความช่วยเหลือต่อไปยังลูฮันสก์ โดยทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ ได้ประกาศเอกราชจากยูเครนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มาร์ติน กริฟฟิธส์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของยูเอ็น ระบุเมื่อวันจันทร์ (18 เมษายน) ว่า การหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในยูเครน ยังมองไม่เห็นหนทางในขณะนี้ แต่อาจจะเป็นไปได้ในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้า

 

กูเตอร์เรสระบุด้วยว่า ปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน เป็นปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา และทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บนับพันคน

 

กูเตอร์เรสเปิดเผยต่อไปว่า ยูเอ็นได้ส่งแผนรายละเอียดการส่งขบวนรถความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแล้ว และพร้อมที่จะจัดส่งขบวนรถขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปให้แก่ จังหวัดมาริอูโปล, เคอร์ซอน, โดเนตสก์ และลูฮันสก์แล้ว

 

โดยสามารถเริ่มส่งได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงวันอาทิตย์อีสเตอร์ของออร์โธด็อกซ์ ซึ่งเป็นวันที่ชาวยูเครนและรัสเซียจะฉลองวันอีสเตอร์

 

พันธมิตรยูเครนส่งอาวุธให้เพิ่ม 

สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรยูเครนประกาศจะส่งปืนใหญ่ อาวุธทำลายรถถังและอากาศยาน ให้แก่ยูเครนเพิ่มอีก ในการประชุมผ่านวีดิโอคอลเมื่อวานนี้ (19 เมษายน) ที่ใช้เวลาประชุมนาน 90 นาที

 

ก่อนหน้านี้ ยูเครนได้ร้องขออาวุธเพิ่ม เพื่อรับมือรัสเซียเปิดปฏิบัติการระยะที่ 2 ในภาคตะวันออกของยูเครนในสัปดาห์นี้

 

ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยืนยันขณะอยู่ที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ในสหรัฐฯ หลังการประชุมออนไลน์ดังกล่าวว่า สหรัฐฯ จะส่งปืนใหญ่ และอาวุธปืนชนิดหนัก ให้แก่ยูเครน

 

ส่วนสหราชอาณาจักร และแคนาดา ก็ประกาศจะส่งปืนใหญ่ให้แก่ยูเครนเพิ่มด้วย

 

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ ได้เริ่มส่งความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่ไปถึงยูเครนแล้ว หลังเพิ่งประกาศเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน

 

อย่างไรก็ตาม จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อวานนี้ (19 เมษายน) ว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน แต่มีประเทศพันธมิตรยูเครนอื่น ๆ ได้ส่งเครื่องบินทางทหารเพิ่มแก่ยูเครน รวมทั้งส่งชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบิน เพื่อนำไปซ่อมเครื่องบินรบของยูเครนเองที่ได้รับความเสียหาย เมื่อซ่อมเสร็จใช้งานได้ ก็จะเท่ากับยูเครนจะมีเครื่องบินรบใช้งานเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี ประกาศจะให้เงินทุนแก่ยูเครน เพื่อใช้ซื้ออาวุธทำลายรถถังและเครื่องกระสุน จากผู้ผลิตอาวุธของเยอรมนี จุดประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กองทัพยูเครน เพื่อให้สามารถผลักดันปฏิบัติการของรัสเซียได้ และยืนยันว่า เยอรมนีจะยังคงสนับสนุนยูเครนทั้งด้านการทหารและการเงินต่อไป

 

ด้านสาธารณรัฐเช็กประกาศจะช่วยซ่อมรถถังและยานเกราะของกองทัพยูเครน ที่เสียหายจากการสู้รบ

 

ส่วนที่ปรึกษาของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงการรับประกันความมั่นคงให้แก่ยูเครนหลังวิกฤตจบด้วย แม้ว่ายูเครนจะไม่ใช่สมาชิกองค์การนาโตก็ตาม

 

การประชุมออนไลน์ดังกล่าว ยังมี เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ผู้นำอิตาลี และญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมด้วย

 

ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ และ เออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยิ่น ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ EU ประกาศจะรัดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียให้แน่นขึ้นอีก เพื่อให้รัสเซียได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เพื่อทำให้รัสเซียต้องรับผิดชอบต่อการเปิดปฏิบัติการในยูเครน

 

ส่วนรัสเซียยึดเมืองแรกในภาคตะวันออกของยูเครน ได้แล้วเมื่อวานนี้ (19 เมษายน) หนึ่งวันหลังเพิ่งเริ่มเปิดปฏิบัติการระยะที่ 2 ในภาคตะวันออกของยูเครน

 

ข้อมูล : TNN World

ภาพ : Reuters

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง