รีเซต

ภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ภาพแรกจากกล้องเจมส์ เวบบ์

ภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ภาพแรกจากกล้องเจมส์ เวบบ์
TNN ช่อง16
3 กันยายน 2565 ( 02:40 )
154

ยังคงมีผลงานที่น่าประทับใจออกมาเรื่อย ๆ สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา องค์การนาซา (NASA) ได้เปิดเผยภาพถ่ายดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ซึ่งเป็นภาพถ่ายดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะภาพแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์


ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า เฮชไอพี 65426 บี (HIP 65426 b) อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ของมันประมาณ 100 เท่า ของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ คาดว่ามีอายุประมาณ 15 ถึง 20 ล้านปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยมากเมื่อเทียบกับโลกของเราที่มีอายุ 4.5 พันล้านปี และมีมวลประมาณ 6 ถึง 12 เท่า ของมวลดาวพฤหัสบดี


สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์มีอุปกรณ์ที่น่าสนใจอยู่ 2 ตัว และมันถูกใช้สำหรับถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในครั้งนี้ด้วย ก็คือ เอ็นไออาร์แคม (NIRCam หรือ Near Infrared Camera) เป็นกล้องที่มองเห็นในช่วงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรดที่ 0.6-5 ไมครอน และเอ็มไออาร์ไอ (MIRI หรือ The Mid-Infrared Instrument) เป็นกล้องที่มองเห็นในความยาวคลื่นช่วงอินฟราเรดกลาง 5-28 ไมครอน

โดยในภาพช่องสีม่วงเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเอ็นไออาร์แคม แสดงให้เห็นวัตถุในช่วงความยาวคลื่นใกล้อินฟราเรดที่ 3.0 ไมครอน และภาพในช่องสีน้ำเงินเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเอ็นไออาร์แคมเช่นกัน แสดงให้เห็นวัตถุในช่วงความยาวคลื่นใกล้อินฟราเรดที่ 4.44 ไมครอน


ต่อมาในภาพช่องสีเหลืองเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเอ็มไออาร์ไอ แสดงให้เห็นวัตถุในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดกลางที่ 11.4 ไมครอน และภาพในช่องสีแดงเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเอ็มไออาร์ไออีกเช่นกัน แสดงให้เห็นวัตถุในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดกลางที่ 15.5 ไมครอน


โดยพระเอกในงานนี้ก็คือโคโรนากราฟ (Coronagraph) ที่ปกติมักจะนำมาใช้ป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์ ระหว่างสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคา แต่ในครั้งนี้มันถูกนำมาใช้เพื่อบังแสงจากดาวฤกษ์แม่ของดาวเคราะห์เฮชไอพี 65426 บี เนื่องจากมันสว่างจ้ามากเสียจนบดบังดาวเคราะห์เป้าหมาย


ข้อมูลและภาพจาก blogs.nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง