รีเซต

งานวิจัยพบ แหล่งน้ำปนเปื้อน "เมทแอมเฟตามีน" ทำให้ปลาเทราต์ "ติดยา" ได้

งานวิจัยพบ แหล่งน้ำปนเปื้อน "เมทแอมเฟตามีน" ทำให้ปลาเทราต์ "ติดยา" ได้
ข่าวสด
7 กรกฎาคม 2564 ( 22:30 )
179
งานวิจัยพบ แหล่งน้ำปนเปื้อน "เมทแอมเฟตามีน" ทำให้ปลาเทราต์ "ติดยา" ได้

 

งานวิจัยพบ - วันที่ 7 ก.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานผลการวิจัยใหม่ว่า ปลาเทราต์สีน้ำตาลสามารถติดยาเสพติดได้ หากมีการสะสมในแหล่งน้ำ

 

 

 

คณะนักวิจัยที่นำโดยนายปาเลว ฮอร์กี นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตแห่งเช็ก (Czech University of Life Sciences) ในกรุงปราก ดำเนินการตรวจสอบว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปลาจะแปรผันตามปริมาณยาเสพติดที่พบในแหล่งน้ำหรือไม่

 

 

 

คณะนักวิจัยนำปลาเทราต์ 40 ตัว ใส่ถังเก็บน้ำที่มีเมทแอมเฟตามีนปนเปื้อนในระดับที่พบในแม่น้ำน้ำจืด เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ก่อนจะย้ายทั้งหมดไปอยู่ในถังน้ำสะอาด

 

 

 

จากนั้น ตรวจสอบวันเว้นวันว่า ปลาเทราต์มีอาการ "ถอนยา" หรือไม่ โดยให้พวกมันเลือกระหว่างน้ำที่ปนเปื้อนยาเสพติด หรือน้ำธรรมดา และใช้ปลาเทราต์อีก 40 ตัว เป็นกลุ่มควบคุมในการทดลอง หลังการทดลอง การุณยฆาตปลาเทราต์และนำเนื้อเยื่อสมองมาวิเคราะห์

 

การศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชีววิทยาทดลอง (Experimental Biology) ผลปรากฏว่า ปลาเทราต์ที่อยู่ในน้ำที่ปนเปื้อนเมทแอมเฟตามีน เลือกที่จะอยู่ในน้ำที่ปนเปื้อนสารเสพติดดังกล่าว 4 วันหลังย้ายไปอยู่ในน้ำธรรมดา บ่งชี้ว่า ปลาเทราต์กำลังมีอาการถอนยา หรือลงแดง เนื่องจากโหยหายาเสพติดเมื่อมีอาการดังกล่าว

คณะนักวิจัยพบว่า ปลาที่ติดเมทแอมเฟตามีนจะคล่องแคล่วน้อยกว่าปลาที่ไม่เคยติดสารเสพติดชนิดนี้ และพบร่องรอยของสารเสพติดในสมองของปลาหลังเสพเข้าไปนานถึง 10 วันทีเดียว และสรุปว่า ต่อให้แหล่งน้ำมีสารเสพติดปนเปื้อนในระดับต่ำยังสามารถส่งผลกระทบต่อปลาเทราต์ที่อาศัยอยู่ได้

ส่วนยาเสพติดที่ขับออกมาจากผู้เสพจะผ่านระบบบำบัดน้ำเสียแล้วปล่อยออกจากโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อกำจัดยาเสพติดที่ปนเปื้อนมาด้วย

 

"ปลามีความไวต่อผลข้างเคียงของยาออกฤทธิ์ทางประสาทหลายชนิด ตั้งแต่แอลกอฮอล์จนถึงโคเคน และสามารถมีอาการติดยาที่สัมพันธ์กับวงจรรางวัลโดพามีน (Dopamine reward pathway) ในลักษณะเดียวกับมนุษย์ โดยโดพามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมน จะหลั่งออกมาจากสมองส่วนหน้า เมื่อมนุษย์มีความสุข"

นายฮอร์กีแสดงความกังวลด้วยว่า การติดยาอาจทำให้ปลาใช้เวลาอยู่กับการปล่อยน้ำที่บำบัดมากขึ้น เพื่อจะได้เสพยาอีกครั้ง ทั้งที่กระบวนการดังกล่าวไม่ดีต่อสุขภาพปลา

"ผลกระทบดังกล่าวสามารถเปลี่ยนการทำงานของระบบนิเวศทั้งหมดได้ เนื่องจากผลกระทบที่ตามมามีความเกี่ยวข้องในระดับปัจเจกตลอดจนระดับประชากรปลา" และเสริมว่า ความอยากยาเสพติดของปลาสามารถพิสูจน์ได้ว่าทรงพลังยิ่งกว่ารางวัลตามธรรมชาติ เช่น การหาอาหาร หรือการผสมพันธุ์

 

การศึกษาย้ำว่า มนุษย์สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างไร นอกเหนือจากสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น คราบน้ำมัน และขยะพลาสติก ซึ่งนายฮอร์กีกล่าวว่า มีนัยต่อผลกระทบของยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ เช่น ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อทางการค้า โปรแซ็ค (Prozac) ที่ใช้รักษาสัตว์น้ำ

"การวิจัยจากทีมงานทั่วโลกแสดงให้เห็นผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งอาจส่งผลต่อมนุษย์ได้" นายฮอร์กีทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง