จีนงัด 'เทคโนโลยีดิจิทัล' อนุรักษ์โบราณวัตถุ 'ถ้ำหินหลงเหมิน'
ลั่วหยาง, 19 ก.ค. (ซินหัว) -- จีนประยุกต์ใช้สารพัดเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การสแกนภาพดิจิทัลและเก็บรวบรวมข้อมูลสามมิติ ในงานอนุรักษ์โบราณวัตถุภายในถ้ำหินหลงเหมิน (Longmen Grottoes) แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน
ถ้ำหินหลงเหมินประกอบด้วยหมู่ถ้ำน้อยใหญ่มากกว่า 2,300 แห่ง มีพระพุทธรูปและรูปเคารพของพุทธศาสนาประดิษฐ์อยู่ถึง 110,000 องค์ สถูปกว่า 80 องค์ และแผ่นจารึก 2,800 ชิ้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นช่วงระหว่างราชวงศ์เว่ยเหนือ (ปี 386-557) ถึงราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279)
หลี่หลินหลิน ชาวจีนรุ่นใหม่ที่ทำงานในทีมข้อมูลของสถาบันวิจัยถ้ำหินหลงเหมิน กำลังสาละวนกับการสแกนภาพดิจิทัลและเก็บข้อมูลสามมิติของรูปปั้นในถ้ำกู่หยาง (Guyang Grotto) กับเพื่อนร่วมงาน
"เราเริ่มสแกนภาพและเก็บข้อมูลบนกำแพงฝั่งเหนือและใต้ของถ้ำกู่หยางเมื่อเดือนมีนาคม จนถึงตอนนี้เสร็จสิ้นร้อยละ 80 แล้ว ถ้ำกู่หยางมีความสูงกว่า 11 เมตร เราจึงต้องปีนนั่งร้านเพื่อขึ้นไปเก็บข้อมูลบนที่สูงด้วย โดยจุดสูงสุดของถ้ำเทียบเท่ากับชั้น 3 ของตึกทั่วไป" คำบอกเล่าจากหลี่
หลี่กล่าวทิ้งท้ายว่าแม้งานของเธออาจดูน่าเบื่อและจำเจแต่ก็มีความหมายมาก เนื่องจากมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้อาจมีอายุยืนยาวและคงทนผ่านระบบดิจิทัล และส่งมอบข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเก็บรักษา การเฝ้าติดตามโรค การวิจัยทางโบราณคดี หรือแม้กระทั่งการจำลองแบบและการจัดแสดง เพื่อส่งเสริมการรักษาถ้ำหินหลงเหมินในรูปแบบดิจิทัล