รีเซต

รัฐมั่นใจศักยภาพชาไทย ยังไปต่อได้อีกไกล

รัฐมั่นใจศักยภาพชาไทย ยังไปต่อได้อีกไกล
TNN ช่อง16
14 กันยายน 2563 ( 15:21 )
103

วันที่ 14 กันยายน 2563 ที่ห้องประชุมภูใจใส เมาน์เทน รีสอร์ต อ.แม่จัน จ.เชียงราย  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ "โอกาศของชาไทยในยุคการค้าเสรี" โดยมี นางสาวปองวลัย พัวพนธ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักสินค้ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายทรงเดช ดันสุรัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท Export Zone co.ltd นายสมคิด โสภณอำนวยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสตาร์ดอยคอฟฟี่จำกัด เป็นวิทยากรในร่วมเสวนา โดยมีผู้ประกอบการชาในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้าร่วมเสวนาด้วย โดยการจัดเสวนาครั้งนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ลงพื้นที่ไร่ชาในจังหวัดเชียงรายเพื่อเก็บข้อมูล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำตลาดอาเซียน จีน และยุโรป ขายสินค้าสนองความต้องการตลาดเฉพาะ หรือ นิชมาร์เก็ต เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยใช้เอฟทีเอเป็นสะพานให้เติบโตแบบก้าวกระโดด


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าหลังจากลงพื้นที่สำรวจศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย การดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ในอนาคตต่อไปนี้อุตสาหกรรมชาไทยจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายอีกมาก เพราะ ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว อัตราการบริโภคชาของคนไทยยังไม่สูงมาก เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคชาเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสให้การเติบโตของตลาดชาในประเทศไทย โดยอาจส่งเสริมให้ผู้บริโภคดื่มชาเพิ่มขึ้นโดยใช้จุดขายเรื่องสินค้าชาอินทรีย์และสรรพคุณเพื่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามรสนิยมผู้บริโภคในลักษณะ DIY และรูปแบบการบริโภคใหม่ๆ การเพิ่มช่องทางการขาย


"ประเทศไทยสามารถปลูกชาในระดับอุตสาหกรรมได้เนื่องจากไร่ชาภาคเหนือมีจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาจะผลิตเพื่อส่งขายจีนเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นชาสำเร็จรูปส่งออกไปยังไต้หวัน หรือขายเป็นชาราคาเกรดทั่วไปเพื่อให้กับร้านชาในประเทศ จึงเรียกได้ว่า อุตสาหกรรมชาของไทยเป็นลักษณะรับจ้างผลิตหรือ โออีเอ็ม เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี เริ่มมีการสร้างแบรนด์สินค้าชาของคนไทยขึ้นมาและมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นตามลำดับ นอกจากศักยภาพอุตสาหกรรมชาไทยแล้ว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับแนวทางจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ และจะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนต่อไป" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว


ด้าน นางสาวธัญญา วนัสพิทักษ์สกุล ผู้บริหารไร่ชาฉุยฟง กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาผลผลิตชาของไร่ชาฉุยฟงก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงกรแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลทำให้รายได้ของตลาดชาลดลง ในช่วงปีที่ผ่านมา และในช่วงต้นปีอากาศแห้งแล้วส่งผลให้มีผลผลิตน้อยลง เพราะผลผลิตชานั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นหลัก ในส่วนของการแข่งขับกับชาต่างประเทศชาไทยได้รับผลกระทบจากส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมากเพราะส่วนใหญ่จะเป็นชาฝรั่งที่นำเข้ามา ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเป็นคนละกลุ่มกันกับผู้บริโภคชาไทย ทำให้ส่วนแบ่งทางการค้าจึงไม่มีผลกระทบมากนัก แต่เมื่อเทียบกับชาที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นกลุ่มชาประเภทเดียวกันกับชาที่ผลิตในไทย เช่นชาเขียว ชาดำ ก็จมีส่วนแบ่งทางการตลาดบ้างแต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ สำหรับไร่ชาฉุยฟง ผลิดทั้งชาสมัยใหม่ และชาดั้งเดิม ที่ชงดื่มด้วยใบชา เช่น ชาแดง ชาอู่หลง ชาเขียว ในปัจจุบันมีการพัฒนาโดยนำชาไทยมาผลสมกับสมุนไพรท้องถิ่น เช่นตะไคร้ ข้าวคั่ว ที่เป็นข้าวของเชียงราย เปเปอร์มิ้นต์ และสมุนไพรต่างๆ 


"ในการสัมนาในครั้งนี้ เกี่ยวเรื่องภาษีฟรีเทรด ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดในธุรกิจของเรา โดยเราอาจจะต่อยอดกับทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  ในการอองานเทรด หรือการติดต่อกับลููกค้าต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในส่วนการเจรจาการค้าทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็จะมีการจับคู่ธุรกิจกันซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้เข้าถึงผู้ที่ต้องการสินค้าชาได้มาขึ้น" นางสาวธัญญา กล่าว 


จากข้อมูลพบว่าในการทำตลาดต่างประเทศ สินค้าชาไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยสำหรับสินค้าชาเขียวไทยสามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในประเทศในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา)  จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี สำหรับสินค้าชาดำ ไทยสามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี และสำหรับผลิตภัณฑ์ชาไทยสามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2558 - 2562ไทยส่งออกสินค้าชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าชาดำ เฉลี่ย 1,401.7 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ. และสินค้าชาสำเร็จรูป เป็นสินค้าในกลุ่มชาและผลิตภัณฑ์ชาที่ไทยส่งออกมากที่สุด เฉลี่ย 9.1 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ กัมพูชา 31% เมียนมา 20% และสหรัฐฯ 18%     


สถิติในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 มกราคม – กรกฎาคม ไทยส่งออกชาเขียว 492.9 ตัน  คิดเป็นมูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 17.92% ส่งออกชาดำ 601.8 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 45.54% และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971.1 ตัน  คิดเป็นมูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 47.77% สำหรับ ในปี 2562 ไทยส่งออกชาเขียว 1,057.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย 38% เนเธอร์แลนด์ 12% และมาเลเซีย 9% ส่งออกชาดำ 2,256 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.6  ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย 40% สหรัฐอเมริกา 18% และกัมพูชา 14% และส่งออกชาสำเร็จรูป 7,032.3 ตัน คิดเป็นมูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ กัมพูชา 31% เมียนมา 20% และสหรัฐอเมริกา 18%

สำหรับผู้สนใจข้อมูลการค้าระหว่างประเทศและการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.dtn.go.th 


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง