รีเซต

เครื่องบินขับไล่จีน J-35 ควันดำ เกิดจากอะไร?

เครื่องบินขับไล่จีน J-35 ควันดำ เกิดจากอะไร?
TNN ช่อง16
23 พฤศจิกายน 2567 ( 20:14 )
เครื่องบินขับไล่จีน J-35 ควันดำ เกิดจากอะไร?

ชาวเน็ตต่างประเทศเผยภาพหลุดเครื่องบินรบ J-35 ของจีน ปล่อยควันดำตอนกำลังบิน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากประสิทธิภาพเครื่องบินรบของจีน หรือว่ามีเหตุผลเบื้องหลังทางด้านเทคโนโลยี


สาเหตุเหตุการณ์เครื่องบินรบจีนควันดำ 

เหตุการณ์ดังกล่าวมาจากส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเครื่องบินรบก็คือ เครื่องยนต์ ซึ่งมีหลายสำนักข่าวจากฝั่งตะวันตกวิเคราะห์ความเป็นไปได้หลายอย่างมาก 


อย่างแรก ควันดำที่สามารถมองเห็นได้จากท่อไอเสียของรถยนต์สันดาปภายใน กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ของเครื่องบินจนเป็นควันดำ ก็คือปัญหาการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ (Incomplete combustion) เหมือนกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เครื่องยนต์อาจเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เกิดได้จากหลายเหตุผล เช่น อุณหภูมิเครื่องยนต์ ระดับความสูงที่สัมพันธ์กับระดับความกดอากาศ เป็นต้น


อย่างที่สอง ในเครื่องบินรบ หรือเครื่องบินเจ็ตทั่วไปในปัจจุบัน จะมีสิ่งที่เรียกว่า APU (Auxiliary power unit) ซึ่งถ้าเทียบไปแล้วก็มีบทบาทคล้ายกับแบตเตอรี่รวมกับไดสตาร์ทในรถยนต์ หรือกล่าวคือทำหน้าที่ให้พลังงานกับเครื่องบินในช่วงการสตาร์ทเครื่องยนต์เจ็ตขึ้น โดยกระบวนการทำงานของ APU จะต้องมีการอัดอากาศและน้ำมันเพื่อสร้างการจุดระเบิดและแก๊สเพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสที่เกิดการปล่อยควันได้เหมือนกัน 


และเหตุผลทั้งสองอย่าง คือความเป็นไปได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจนเป็นภาพควันดำจากเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 อย่าง J-35 และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดกับแค่เครื่องบินจากฝั่งจีน เครื่องบินจากฝั่งสหรัฐอเมริกาเองก็สามารถเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้เช่นกัน



ยกตัวอย่างเช่น เอฟ โฟร์ แฟนทอม (F-4 Phantom) เครื่องบินขับไล่ในอดีตก็เคยมีการปล่อยควันดำ จากสาเหตุการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ หรือเอฟ วันโอโฟร์ สตาร์ไฟต์เตอร์ (F-104 Starfighter) เครื่องบินเข้าสกัด (Intercepter) ก็เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ตลอดจนปู่ B-52 เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ยังใช้ในปัจจุบัน ก็มีภาพพวกนี้ให้เห็นได้เหมือนกัน


เบื้องหลังการพัฒนาเครื่องยนต์เครื่องบินขับไล่จีนและสหรัฐอเมริกา

ประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเครื่องยนต์ในเครื่องบินรบของจีนและสหรัฐอเมริกานั้นมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของระยะเวลาและรูปแบบการพัฒนาโครงการ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์เจ็ตที่ใช้กับเครื่องบินขับไล่ตัวแรกสุดที่จีนพัฒนาขึ้นมาเองทั้งหมด คือรุ่น ว่อเฉิน หรือ WS-10 ซึ่งเปิดตัวในช่วงปี 1990 กับเครื่องบินขับไล่รุ่น J-10


และในขณะเดียวกัน บริษัท เอวีไอซี (AVIC: Aviation Industry Corporation of China) ที่เป็นผู้พัฒนาเครื่องบินรบเพียงรายเดียวในประเทศก็ตั้งบริษัทขึ้นในปี 1951 ต่างจากสหรัฐอเมริกา เช่น โบอิ้ง (Boeing) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลากหลายบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ และเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา ก็มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1916 หรือ 108 ปี ได้แล้ว


ทั้งนี้ พื้นฐานการพัฒนาในฝั่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นการวางแผนการ แนวคิด และเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันการพัฒนา ส่วนจีนจะเป็น AVIC ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และเป็นบริษัทเพียงรายเดียวในปัจุบันที่ทำ ด้วยรูปแบบการพัฒนาทั้งตัวต้นแบบ อุปกรณ์ และสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่ต่างกัน จึงทำให้ระดับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมีส่วนที่ต่างกันด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้ J-35 เองก็ยังอยู่ระหว่างการทดสอบเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะเสร็จสิ้นและผลิตอย่างเป็นทางการเมื่อใด แต่ถ้าจีนสามารถพัฒนา J-35 ได้สำเร็จ จีนจะเป็นชาติเดียวนอกจากสหรัฐอเมริกา ที่มีเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ให้ใช้ถึง 2 แบบ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในหลากหลายมิติ และทั้งหมดล้วนเป็นเพียงการคาดการณ์จากสื่อตะวันตก รวมถึงเป็นความคิดเห็นที่มีแนวโน้มที่เป็นไปได้เท่านั้น ในณะที่ทางการจีนยังไม่ได้ระบุหรือให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด


ข้อมูล IDRW, Eurasian Times, Arc-Refuellers, Wikipedia, Stack Exchange, Reddit, Quora (1), Quora (2)

ภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง