ยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ โอกาสของ SMEs ไทย

#ทันหุ้น - คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้เป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับส่งเสริมลงทุนไปแล้วกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ที่สำคัญสามารถยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม พร้อมสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย และผลักดันให้ SMEs ไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระดับโลก
ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม และสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ใน 5 อุตสาหกรรมหลักที่ไทยมีศักยภาพในการเติบโต และสามารถนำพาผู้ประกอบการ SMEs ไทย ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน ได้แก่
1. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม EV ระดับโลก ซึ่งไม่ใช่แค่การลงทุนโรงงานประกอบรถอย่างเดียว แต่ยังมีการลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนอื่น ๆ รวมไปถึงการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ Tier 2 และ Tier 3 ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ให้สามารถยกระดับการผลิตสินค้าเพื่อเข้าสู่ Supply Chain อุตสาหกรรม EV ระดับโลก
2. อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยเฉพาะแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่ถือเป็นคลื่นลงทุนใหม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมไปถึงโครงการผลิตชิป (Wafer) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม ที่ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในยุคการเติบโตของดิจิทัลและเอไอ ซึ่งไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติขึ้นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเร่งผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น และจะส่งผลดีต่อ SMEs จำนวนมากที่อยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในประเทศไทย
3. อุตสาหกรรมดิจิทัล ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงมากในช่วงที่ผ่านมา จากการขับเคลื่อนโดยเอไอ ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายสำคัญในการลงทุนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งจากสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย โดยเฉพาะ Data Center และ Cloud Service ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ SMEs และ Startup ของไทย เชื่อมโยงเครือข่ายกับธุรกิจระดับโลก
4. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านอุตสาหกรรมเกษตร และแปรรูปอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลผลิตหรือเศษวัสดุทางการเกษตร ถือป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย และยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
5. อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ เนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทย ต้องการไฟฟ้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เป็น “พลังงานสะอาด” ขณะเดียวกันนโยบายของบีโอไอได้สนับสนุนให้เกิดผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตโดยหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ของโลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ บีโอไอมุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ผลักดันให้ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งทั้ง 5 อุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่จะมีผู้ประกอบการ SMEs ของไทยอยู่ใน Supply Chain และมีฐานการผลิตที่แข็งแรงมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งแต่เริ่มใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ (ปี 2566 - 2567 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) รวมกว่า 2,000 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 76,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับหรือปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ (Smart and Sustainable Industry) เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงเครื่องจักร นำระบบอัตโนมัติ และดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีคำขอส่งเสริมลงทุนกว่า 800 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 64,000 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งบีโอไอยังได้กิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างบริษัทชั้นนำกับ SMEs ไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจับคู่ธุรกิจ และกิจกรรม Sourcing day เพื่อให้ SMEs ไทยได้พบกับผู้ซื้อโดยตรง ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับ SMEs ไทยได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมระดับโลก
การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ครั้งนี้ บีโอไอมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain ได้ปรับตัวผ่านมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ทั้งมาตรการส่งเสริม SMEs มาตรการ Smart and Sustainable Industry โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเงินลงทุนเริ่มต้น 500,000 บาทขึ้นไป สามารถขอรับส่งเสริมลงทุนได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 200% ของวงเงินลงทุน การที่บีโอไอมอบสิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการ SMEs มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อสร้างแต้มต่อในการลงทุนให้กับผู้ประกอบ SMEs ไทย