รีเซต

เส้นเลือดในสมองแตก ล้มทั้งยืน เช็กอาการสัญญาณเตือนก่อนสาย

เส้นเลือดในสมองแตก ล้มทั้งยืน เช็กอาการสัญญาณเตือนก่อนสาย
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 11:38 )
25

เส้นเลือดในสมองแตก ล้มทั้งยืน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เช็กอาการเตือนเบื้องต้น ป้องกันความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พร้อมแนวทางรักษาและวิธีป้องกัน

เส้นเลือดในสมองแตก ล้มทั้งยืน อย่ามองข้ามสัญญาณเตือน

เหตุการณ์ล้มทั้งยืนในที่สาธารณะ มักถูกมองว่าเป็นอุบัติเหตุทั่วไป แต่หลายกรณีพบว่าเกิดจาก “เส้นเลือดในสมองแตก” ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากปล่อยไว้โดยไม่รู้เท่าทัน อาจส่งผลถึงชีวิต หรือพิการถาวร

ล่าสุด กรณีของ ร.ต.ต.ทวี ประทุมชัย รองสารวัตร สภ.เลิงนกทา จังหวัดยโสธร ล้มลงกะทันหันในขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าห้องประชาสัมพันธ์ เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็น ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) จากโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นโรคประจำตัว โชคดีที่เข้ารับการรักษาทันท่วงที อาการปลอดภัยแล้ว



เส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากอะไร?

ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกมักเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หากไม่ได้ควบคุมอย่างเหมาะสม อาจทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอจนแตก ส่งผลให้เลือดไหลเข้าเนื้อสมอง ทำลายเซลล์สมองและระบบควบคุมร่างกาย

กลุ่มเสี่ยง เส้นเลือดในสมองแตก


  • ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้มีไขมันในเลือดสูง เบาหวาน
  • ผู้สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • คนที่มีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

เช็กอาการ! สัญญาณเตือนเส้นเลือดในสมองแตก

หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

✅ ชา หรืออ่อนแรงบริเวณหน้า แขน ขา ด้านใดด้านหนึ่ง

✅ พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจคำพูด

✅ มองเห็นไม่ชัดในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

✅ เวียนศีรษะ เดินเซ ทรงตัวไม่ได้

✅ ปวดหัวเฉียบพลันและรุนแรง

✅ อาเจียนโดยไม่มีสาเหตุ


การรักษาเส้นเลือดในสมองแตก

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่หลอดเลือดแตก โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก

  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาลดความดัน ยาลดอาการบวมในสมอง
  • การผ่าตัด ในกรณีมีเลือดออกปริมาณมาก หรือกดทับเนื้อสมอง

การรักษาที่ทันท่วงทีภายใน 3–4.5 ชั่วโมงแรก มีโอกาสลดความพิการถาวรและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นอย่างมาก

วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง