มิตซูบิชิทำหุ่นยนต์แก้รูบิคได้เร็วที่สุดในโลก ด้วยเวลา 0.305 วินาที !
กินเนส เวิล์ด เรกคอร์ดส์ (Guinness World Records) ประกาศชัยชนะของทีมพัฒนาหุ่นยนต์จากบริษัทมิตซูบิชิ (Mitsubishi) ในญี่ปุ่น ที่สามารถสร้างหุ่นยนต์ชื่อว่า โทคุฟาสต์บอต (TOKUFASTbot) เพื่อแก้ปริศนาลูกบาศก์รูบิค (Rubik) ได้เร็วที่สุดในโลกด้วยเวลา 0.305 วินาที เฉือนเอาชนะหุ่นยนต์แก้ปริศนารูบิคจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นแชมป์เก่าด้วยเวลาเพียง 0.07 วินาที
ข้อมูลหุ่นยนต์แก้รูบิคเร็วที่สุดในโลก
ผลงานดังกล่าวเป็นของโทคุอิ (Tokui) วิศวกรฝ่ายวิศวกรรมการประกอบมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จากศูนย์วิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนของมิตซูบิชิ อิเล็กทริก (Mitsubishi Electric) พร้อมทีมงาน ได้ออกแบบหุ่นยนต์ที่มีแขน 6 แขน สำหรับหมุนรูบิคแต่ละด้าน และสร้างระบบที่แก้โจทย์ลูกบาศก์รูบิค พร้อมออกแบบระบบการทำงานทั้งหมด โดยเฉพาะมอเตอร์ส่วนแขนเพื่อสร้างความเร็วในการหมุนรูบิค ซึ่งทำให้แขนกลสามารถหมุนรูบิค 90 องศาได้ในระยะเวลา 0.009 วินาที เท่านั้น
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วรูบิคจะทำจากพลาสติกที่เป็นลูกบาศก์ย่อย 26 ชิ้น ที่สามารถบิดหมุนไปรอบ ๆ ได้ โดยแต่ละด้านของรูบิคจะประกอบด้วย 9 ส่วน จาก 6 สี ซึ่งมีการจัดเรียงสีสลับกันได้หลายรูปแบบ การแก้ปริศนารูบิค ก็คือการจัดเรียงให้แต่ละหน้าลูกบาศก์ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ด้าน มีสีเดียวกัน
ผลลัพธ์จากความพยายามครั้งแรก หุ่นยนต์ใช้เวลาถึง 21 นาที ในการพยายามแก้รูบิค แต่ไม่สำเร็จ ในความพยายามครั้งที่ 2 ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำเวลาในการแก้ปัญหารูบิคไว้ที่ 0.305 วินาที และนับว่าเป็นสร้างสถิติโลกใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ในปี 2023 เบน แคทซ์ (Ben Katz) และ จาเร็ด ดิ คาร์โล (Jared Di Carlo) นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (MIT: Massachusetts Institute of Technology) ได้สร้างหุ่นยนต์แก้ปริศนารูบิค The Rubik's Contraption ซึ่งทำสถิติแก้ปริศนาในรยะะเวลา 0.375 วินาที
สถิติใหม่ที่เร็วกว่าเดิม 0.07 วินาที เป็นเวลาที่อยู่ในระดับเดียวกับเวลาที่คนกะพริบตาที่ประมาณ 0.1 - 0.3 วินาที โดยทีมจากญี่ปุ่นเริ่มต้นพัฒนาตัวต้นแบบในปี 2022 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ของบริษัทในจังหวัดเฮียวโงะ พื้นที่ทางตะวันตกของโอซากา โดยปัจจัยที่ท้าทายที่สุด นอกจากการพัฒนามอเตอร์ให้มีรอบการหมุนเพื่อหมุนหน้าลูกบาศก์แล้ว ยังต้องทำให้ทุกส่วนทำงานอย่างพร้อมเพรียงกันด้วย
ในขณะที่ ทางทีมต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า มอเตอร์และกลไกหุ่นยนต์ของบริษัทไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพ แต่มีความสามารถในการทำสถิติโลกด้วย โดยสถิติดังกล่าวประกาศเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Interesting Engineering, Independent, Ben Katz (Blogspot)
ภาพจาก Mitsubishi Electric, Guinness World Records