รีเซต

เช็กลิสต์ยื่นภาษีออนไลน์ 2564 ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

เช็กลิสต์ยื่นภาษีออนไลน์ 2564 ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2564 ( 16:36 )
1.1K
เช็กลิสต์ยื่นภาษีออนไลน์ 2564 ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

        โดยปกติแล้วประชาชนผู้มีรายได้จะต้องยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป เช่น ปีภาษี 2563 จะต้องยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคม 2564 แต่สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณี กฎหมายได้กำหนดให้ยื่นภาษีตอนครึ่งปีด้วย หรือเรียกว่า ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายนของทุกปี เช่นการรับเหมา  การให้เช่าทรัพย์สิน วิชาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์  เป็นต้น ซึ่งการยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ทั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์  www.rd.go.th ซึ่งในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ยังไม่สู้ดีนักนี้ การยื่นภาษีออนไลน์จึงเป็นวิธีช่วยเลี่ยงให้เราไม่ต้องไปเผชิญกับความเสี่ยงนอกบ้านได้ดีที่สุด และสามารถยื่นเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

        แต่ก่อนที่จะยื่นภาษีออนไลน์นั้น เรามาเช็กกันก่อนว่าจะต้องเตรียมอะไรกันบ้าง

1. เตรียมเอกสารแสดงรายได้ และข้อมูลที่จำเป็นให้พร้อมรับรายได้จากบริษัททางเดียว ก็ใช้ใบทวิ 50 แต่หากมีรายได้หลายช่องทาง ก็ต้องเตรียมเอกสารแสดงการหักภาษีของหน่วยงานที่จ้างไว้ให้พร้อม

2. เข้าสู่หน้าเว็บไซต์ www.rd.go.th เพื่อกรอกข้อมูล 

3. ชำระภาษี หรือ ขอคืนภาษี

        อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถยื่นได้ตลอดเวลา แต่ต้องดำเนินการยื่นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภ.ง.ด. 90/91 จะปิดให้ยื่นประมาณปลายเดือนมีนาคมของทุกปี (แต่ปีภาษี 2563 ยื่นได้ถึง 8 เมษายน 64)

วิธียื่นภาษีออนไลน์ครั้งแรก

ขั้นตอนที่ 1  สร้างรหัสผ่าน

        อันดับแรกให้เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ www.rd.go.th  แล้วกดสมัครสมาชิก เพื่อใช้เลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นภาษีต่อไป แต่หากลืมรหัสผ่าน เตรียมบัตรประชาชนขึ้นมาเพื่อกรอกข้อมูลสร้างรหัสผ่านใหม่

ลืมรหัสผ่านคลิกที่นี่  


 ขั้นตอนที่ 2 เข้าสู่ระบบ

        ขั้นตอนนี้จะต้องทราบว่าจะต้องยื่นเสียภาษีประเภทใด  โดยหากมีรายได้จากเงินเดือนบริษัทเพียงอย่างเดียว กรอก ภ.ง.ด. 91 แต่หากมีเงินได้ประเภทอื่นๆ ด้วย กรอก ภ.ง.ด. 90


 ขั้นตอนที่ 3 กรอกข้อมูลส่วนบุคคล

        เมื่อคลิกเข้าไปในหน้าแรกจะพบกับช่องให้กรอก ชื่อ สกุล ที่อยู่ ต้องกรอกข้อมูลที่อยู่ปัจจุบันที่ติดต่อได้ เพราะหากสรรพากรต้องการเอกสารเพิ่มเติมจะได้แจ้งกลับมาได้ถูก


 

        ส่วนในหน้าถัดไปจะเป็นช่องให้กรอกสถานภาพการสมรส และกรอกชื่อคู่สมรส พร้อมเลขบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบ หากคู่สมรสมีเงินได้ก็แยกกันยื่นได้

ขั้นตอนที่ 4 กรอกข้อมูลที่มาของเงินได้ และรายจ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี

        หลังจากใส่ข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ก็กรอกข้อมูลแหล่งที่มาของเงินได้ ทั้งเงินเดือนและค่าจ้างต่างๆ รวมถึงข้อมูลค่าใช้จ่ายส่วนตัว ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ค่าเลี้ยงดูอุปการะบิดามารดา ฯลฯ เพื่อนำไปคำนวณภาษี นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาครัฐที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย 

อ่านข่าว  ยื่นภาษีปี 2563 ใช้อะไรลดหย่อนได้บ้าง?

ขั้นตอนที่ 5 กดบันทึกเพื่อพิมพ์แบบ หรือขอคืนภาษี

        เมื่อกรอกข้อมูลครบทุกขั้นตอนแล้ว ให้เลือกว่าจะกดยื่นภาษีทันที หรือบันทึกเพื่อกลับมาแก้ไขอีกครั้ง หากเข้ามาแก้ภายหลังจะต้องกรอกหมายเลขด้านหลังบัตรประชาชน (Lasser ID) พร้อมกับหมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบอีกครั้ง

        โดยหลังจากยื่นแบบไปแล้ว คุณสามารถชำระภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือขอคืนภาษีผ่าน PromptPay ได้ หากสรรพากรต้องการเอกสารเพิ่มเติมก็จะแจ้งให้ทราบเป็นจดหมาย SMS หรือ E-mail ที่คุณแจ้งรับข่าวสารไว้


        สำหรับการยื่นภาษีในปีภาษี 2563 จะต้องดำเนินการก่อนวันที่ 8 เมษายน 2564 และหากต้องการคืนภาษีเร็ว ก็ต้องเตรียมเอกสารลดหย่อนภาษีให้ครบ และลงทะเบียนรับภาษีคืนผ่าน PromptPay จะยิ่งได้คืนภาษีเร็วเท่านั้น 

        อย่างไรก็ตาม หากยื่นภาษีไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องนำเอกสารไปยื่นเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน แต่จะมีโทษการไม่ยื่นภาษีภายในกำหนดเวลา  โดยกรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนกรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท ขณะที่กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 ชำระภาษีรถล่วงหน้า ทำง่ายๆเพียง 3 ขั้นตอน

 เช็กลิสต์ โครงการ"ช้อปดีมีคืน"ลดหย่อนภาษีคุ้มแค่ไหน?

 4 ประโยชน์การทำประกัน ที่มีดีมากกว่าลดหย่อนภาษี

 3 ช่องทางออมเงินให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าหยอดกระปุก


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง