แพทย์แนะ ทำอย่างไร เมื่อเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด
แพทย์แนะ ทำอย่างไร เมื่อเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่ หายแล้วยังต้องรับวัคซีนโควิดหรือไม่ แนะป้องกันอย่าให้ติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 10 เมษายน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise ระบุว่า ATK 2 ขีดแล้วอย่างไรต่อไป…. สำหรับเด็กๆ
ตอนนี้พูดเรื่องป้องกัน ดูเหมือนจะสายไปแล้วครับ และคาดว่า ประชาชนก็น่าจะรู้อยู่แล้วล่ะครับ แต่แม้พยายามแค่ไหน มันก็ ติดเชื้อได้… ดังนั้น มาพูดกันดีกว่าครับว่า ถ้าติดเชื้อ ATK 2 ขีดแล้วจะทำอย่างไรต่อ
ผมจะขอเน้นเรื่องของเด็ก นะครับ อ้างอิงแนวทางจากราชวิทยาลัยกุมารฯ ก่อน ATK2 ขีด ศึกษาก่อนเลยครับ
1. สิทธิ์การรักษาของเราอยู่ที่ไหน รพ.อะไร รพ.สต.หรือ อนามัยอะไร ใน ต่างจังหวัด ถ้ากรุงเทพก็จะลำบากหน่อยครับ
แต่ละพื้นที่แต่ะจังหวัดก็มีแนวทางการให้บริการแตกต่างกัน ( นี่คือเรื่องปกติแบบไทยๆ) เกิด 2 ขีดขึ้นมาจะได้ไปถูก
2. ยาสามัญที่จำเป็นเมื่อป่วยเช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ น้ำเกลือแร่ ยาแก้อาเจียน เหล่านี้ ซื้อติดบ้านไว้ได้เลย หากป่วยจะได้ไม่ต้องวิ่งหายาครับ
3. เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว… มีได้ก็ดี ราคาไม่สูงมาก ร้านขายยาก็มีขายครับ กดเอาตาม online ต้องระวังไม่ได้มาตรฐานไม่ผ่านอย.เครื่องมือแพทย์
– ATK 2 ขีดแล้ว อันนี้พูดแบบประชาชนทั่วไป ไม่อิงนิยามระบาดอะไรเลยนะครับเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ 2 ขีด คือ เชื่อได้ว่า น่าจะติดเชื้อแน่ๆ หลายที่ไม่มีการ confirm PCR เว้นแต่จะต้องเข้ารพ. หรือ กรณีอื่นๆ …แต่สรุปคือ ติดเชื้อแล้วล่ะ ที่นี้ก็ว่ากันด้วยเรื่องการรักษาตัว
– ต้องนอนโรงพยาบาลไหม กลุ่มเสี่ยงรุนแรงเช่น ไข้สูง 39 องศาต่อเนื่องเกิน 1 วัน ซึม ชัก กินไม่ได้ อาเจียนมาก หอบเหนื่อย เหล่านี้ควรได้รับการตรวจเพื่อพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ต้องนอนรพ.หรือไม่ (ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการดังกล่าวก็น่าจะนอนล่ะครับ)
กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ต่ำกว่า 39 องศาไม่ต่อเนื่อง เจ็บคอ พอกินได้ หรือไม่มีอาการ สามารถรักษาตามอาการ “อยู่ที่บ้าน” หรือเข้าระบบ Home isolation (ถ้ามีระบบ) ทานยาลดไข้ เช็ดตัว
หากมีอาการไข้ต่อเนื่อง เช่น 39 องศาต่อเนื่องเกิน 1 วัน หรือ อาการแย่ลง ซึมลง กินไม่ได้ อ่อนเพลียมาก
อันนี้ควรมาตรวจเพิ่มเติมที่รพ. เพื่อประเมินว่าต้องรับการรักษาในรพ.หรือไม่ ต้องกินยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียไหม คำตอบคือ “ไม่จำเป็นสำหรับทุกราย”
โดยส่วนใหญ่ หากอาการเล็กน้อย หรือ ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องทานยาต้านไวรัส แต่ ในรายที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเช่น….
อายุน้อยกว่า 1ปีและมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง ได้แก่
1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
2.อ้วน
3.โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4.โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง
เด็กที่มีพัฒนาการช้า เหล่านี้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส นั่นแปลว่า ต้องไปรับการรักษาที่รพ. หรือ สถานบริการก่อน เพื่อตรวจและเข้าถึงยาต้านไวรัส