รีเซต

ติดโควิด ทำไง? เช็กขั้นตอนรักษาโควิด 1 ต.ค. 65 ติดโควิด ติดต่อที่ไหน

ติดโควิด ทำไง? เช็กขั้นตอนรักษาโควิด 1 ต.ค. 65 ติดโควิด ติดต่อที่ไหน
Ingonn
27 กันยายน 2565 ( 11:25 )
468

ติดโควิด ทำไง? หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือประชาชนทั่วไป ยังสวมแมสก์หรือไม่ และรักษาโควิดอย่างไร ต้องฉีดวัคซีนโควิด ที่ไหน เช็กเลย

 

ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป รัฐบาลใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อบริหารสถานการณ์ บูรณาการทุกฝ่ายได้ปกติ แนะผู้ป่วยปฏิบัติตาม DMHT สวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่แออัด ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ฉีดวัคซีนตามกำหนดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และรับการรักษาฟรีตามสิทธิ หากอาการวิกฤตใช้ UCEP Plus ได้ พร้อมจัดเตรียมแนวทางบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาโรค รวมถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนไว้รองรับอย่างชัดเจน

 

ขั้นตอนรักษาโควิด 1 ต.ค. 65 ติดโควิด ทำไง?

การดูแลรักษาผู้ป่วยจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ คือ

  1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT

  2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT

  3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง รักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน

  4. ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมต้องรับออกซิเจน รักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน

 

ทำอย่างไรเมื่อ โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 

  • ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะสวมหน้ากาก ล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น 
  • ประชาชนทั่วไปแนะนำให้สวมหน้ากาก เมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย ตามความจำเป็น 
  • หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 

 

สิทธิรักษาโควิด หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

  • กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด 19 สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ 
  • กรณีที่เป็นผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือสถานพยาบาลภาคเอกชน ตามระบบ UCEP Plus

ทั้งนี้ประชาชนและสถานพยาบาล สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

 

ฉีดวัคซีนโควิดฟรีไหม ต้องฉีดวัคซีนกี่เข็ม

ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรังประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน และผู้รับเข็มกระตุ้นสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ตามสถานพยาบาล

 

ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้

 

ติดโควิด รักษาโควิดฟรีไหม

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด 19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น

 

ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ ส่วนการให้ยา หากไม่มีอาการจะไม่ให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องให้ยา หรืออาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หากให้ต้องเริ่มเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง โดยเริ่มจากยาแพกซ์โลวิดก่อน หากไม่ได้ค่อยเป็นยาเรมดิซีเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ตามลำดับ 

 

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากมีอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน

 

 

ข้อมูล กระทรวงสาธารณะสุข

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง