รีเซต

โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และ วลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย มีกำหนดพบกัน ในวันพุธนี้ (16 มิถุนายน)

โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และ วลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย มีกำหนดพบกัน ในวันพุธนี้ (16 มิถุนายน)
TNN World
15 มิถุนายน 2564 ( 10:42 )
82
โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และ วลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย มีกำหนดพบกัน ในวันพุธนี้ (16 มิถุนายน)

Editor’s Pick: ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย มีกำหนดพบกัน ในวันพุธนี้ (16 มิถุนายน) ท่ามกลางการจับตามองว่า ทั้งสองจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่ตกต่ำนี้อย่างไร และปูตินต้องการอะไรจากการประชุมครั้งนี้

 

 

อาจไม่ชื่นมื่นเหมือน G7

 



สำนักข่าว BBC รายงานว่า การพบกันระหว่างไบเดนและปูติน ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ จะไม่ใช่การเผชิญหน้าที่เป็นมิตรเท่าไหร่นัก เพราะเมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียได้จัดให้สหรัฐฯอยู่ในรายชื่ออย่างเป็นทางการของ “รัฐที่ไม่เป็นมิตร”

 



ทั้งสหรัฐฯแ ละรัสเซียต่างระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายนั้นอยู่ในจุดต่ำสุด และทั้งสองชาติ ยังไม่มีเอกอัครราชทูตไปประจำการในประเทศของอีกฝ่าย เพราะเจ้าหน้าการทูตอาวุโสของรัสเซียถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร จากกรณีที่รัสเซียผนวกไครเมีย และการถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้วย

 



ขณะที่อดีตนาวิกโยธินของสหรัฐฯ สองนายถูกจำคุกในรัสเซีย หนึ่งในนั้นเผชิญข้อหาเป็นสายลับและต้องต้องจำคุก 16 ปี

 



ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่าน ประธานาธิบดีไบเดน ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า นายปูตินเป็น “ฆาตกร” อีกด้วย

 

 



เพียงไม่เริ่มประชุม รัสเซียก็ถือว่ามีแต้มต่อ

 



อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว BBC วิเคราะห์ว่า การที่สองประธานาธิบดีนี้จะมานั่งเป็นครั้งแรกนั้น รัสเซียมองว่าก็ประสบความสำเร็จในตัวของมันเองอยู่แล้ว

 



อันเดรย์ คอร์ทูนอฟ ผู้อำนวยการศูนย์ RIAC ในกรุงมอสโก ระบุว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเป็นการทำให้รัสเซียอยู่ในระดับเดียวกับสหรัฐฯ

 



และสำหรับปูติน สัญลักษณ์ใช่ว่าไม่สำคัญ เพราะนี่ คือการประชุมสุดยอดในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งของนายไบเดน และเขาเป็นผู้เสนอการประชุมเองด้วย ซึ่งนั่นเปรียบดังโบนัสสำหรับเครมลิน

 



นอกจากนี้ ยังเป็นการประชุมสุดยอดเต็มรูปแบบ ไม่ใช่การประชุมแบบสั้น ๆ ที่พบกันตามงานประชุมอื่น

 



ลิเลีย เชฟต์โซวา นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า ปูตินต้องการเท่าเทียมกับไบเดน เขาต้องการได้รับความเคารพและต้องการแสดงความเป็นชายชาตรีและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

 

 



“การประชุมสุดยอดครั้งนี้คงไม่เสียเปล่า”

 



ทั้งนี้ การเลือกเจนีวาเป็นสถานที่จัดประชุมนั้นทำให้ย้อนไปถึงการเผชิญหน้าช่วงสงครามเย็นในปี 1985 ซึ่งมีการประชุมสุดยอดเป็นครั้งแรกระหว่างโรนัลด์ เรแกน และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน

 



ขณะนี้ตอนนี้ ทำเนียบขาวระบุว่า มีเป้าหมายเพียงสร้างความสัมพันธ์ที่เสถียรและคาดเดาได้กับรัสเซีย

 



เชฟต์โซวามองว่า เป้าหมายที่เป็นไปได้ ก็คือ ต่างฝ่ายต่างทดสอบว่าอะไรคือเส้นสีแดงของแต่ละฝ่าย และเข้าใจว่าการเจรจา คือหนทางออกมาจากสถานการณ์ที่เลวร้าย หากไม่เจรจากัน ก็จะยิ่งทำให้รัสเซียคาดเดาไม่ได้มากขึ้น

 



สัปดาห์ที่ผ่านมา ปูตินกล่าวกับสื่อทางการรัสเซียว่า ยังมีบางประเด็นที่รัสเซียและสหรัฐฯ สามารถร่วมมือกันได้ ตั้งแต่การเจรจาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ปัญหาความขัดแย้งระดับภูภาคต่างๆ เช่น ซีเรียและลิเบีย ตลอดจนปัญหาสภาพภูอากาศเปลี่ยนแปลง

 



ปูตินกล่าวด้วยว่า “หากเราสามารถสร้างกลไกการทำงานในประเด็นเหล่านี้ได้ การประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็คงไม่เสียเปล่า”

 



หรือประชุมไปก็เท่านั้น?

 



นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การพบกันของไบเดนและปูตินนั้นอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะปูตินมองว่าตะวันตกนั้นเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซีย

 



ในการประชุมเศรษฐกิจที่นครเซนต์ปีเตอรส์เบิร์กในเดือนนี้ ปูตินอ้างว่า สหรัฐฯต้องการจำกัดการพัฒนาของรัสเซีย และหลังจากนั้น เขาขู่ว่าจะจัดการผู้รุกรานต่างชาติที่ต้องการแว้งกัดรัสเซีย

 



คอร์ทูนอฟมองว่า เป็นที่ชัดเจนว่า ปูตินเชื่อว่าสหรัฐฯนั้นเป็นศัตรูที่ไม่ต้องการเห็นรัสเซียได้ดี และเขาคิดว่า การมองของปูตินเช่นนี้จะไม่เปลี่ยน แต่รัสเซียอาจต้องการลดอุณหภูมิเดือดลงเล็กน้อย เพราะในฐานะที่ปูตินเป็นนักการเมือง เขาต้องลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบนี้ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะรอบล่าสุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว ในขณะที่ปีหน้ารัสเซียจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

 



แต่สิ่งที่ปูตินไม่ต้องการในการพบกับไบเดนครั้งนี้ แต่ก็เตรียมพร้อมรับคือ การถูกพร่ำสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีการจับกุมอเล็กเซ นาวัลนี แกนนำฝ่ายค้าน

 



อย่างไรก็ตาม ปูตินก็จะยังคงเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่างต่อไปและต้องการแสดงให้เห็นว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของอเมริกา” ซึ่งเชฟต์โซวามองว่า ไบเดนก็จะร้องเพลงของเขาไป ร่ายเรื่องนาวัลนีและสิทธิมนุษยชน ส่วนปูตินของร้องเพลงของตนเองและบอกว่า สหรัฐฯ ก็ทำเหมือนกัน

 



การหารือเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเพียงอาหารเรียกน้ำย่อย แล้วทั้งสองผู้นำก็จะทานอาหารจานหลัก ซึ่งก็คือ การทำอะไรที่ลดความตึงเครียดในขณะนี้ลงนั่นเอง

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง