รีเซต

ฉงชิ่งพบซาก 'กลุ่มอาคารโบราณ' รอดพ้นสงครามราชวงศ์ซ่ง-มองโกล

ฉงชิ่งพบซาก 'กลุ่มอาคารโบราณ' รอดพ้นสงครามราชวงศ์ซ่ง-มองโกล
Xinhua
29 มีนาคม 2566 ( 19:29 )
91

ฉงชิ่ง, 29 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ เทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ค้นพบซากกลุ่มอาคารโบราณที่เมืองเตี้ยวอวี๋ ซึ่งเป็นป้อมปราการโบราณในเขตเหอชวน ระหว่างงานขุดค้นทางโบราณคดี

ป้อมปราการแห่งนี้ถูกตั้งชื่อตามเนินเขาบริเวณสถานที่ก่อสร้างในยุคปลายราชวงศ์ซ่งใต้ (ปี 1127-1279) โดยเมือง เตี้ยวอวี๋ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบป้องกันซื่อชวน (เสฉวน) และฉงชิ่งในยุคปัจจุบัน สามารถยืนหยัดต่อสู้การรุกรานจากภายนอกนานถึง 36 ปี ในช่วงสงครามระหว่างกองทัพราชวงศ์ซ่งและกองทัพมองโกเลียในศตวรรษที่ 13 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์

ป้อมปราการเมืองเตี้ยวอวี๋ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร โดยทีมโบราณคดีดำเนินการขุดค้นพื้นที่ 914 ตารางเมตร และทำการขุดประตูเมือง กำแพงเมือง กำแพงหิน ประตูลาน พื้นยกสูง บ่อน้ำ สระน้ำ ถนน ที่ตั้งบ้าน คูระบายน้ำ หลุมขี้เถ้า พร้อมซากโบราณสถานอีก 33 จุด นอกจากนั้นยังมีการขุดพบโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมอื่นๆ อีกกว่า 300 ชิ้นด้วย

หยวนตงชาน รองผู้อำนวยการสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีฉงชิ่ง กล่าวว่าประตู ทางเดิน ท่าเรือ และกำแพงหินที่ขุดพบ แสดงให้เห็นว่าป้องปราการแห่งนี้เคยมีลานขนาดใหญ่ ขณะขนาดของหินและเทคโนโลยีก่ออิฐที่พบนั้นไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อนหยวนระบุว่าการค้นพบใหม่นี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของราชวงศ์ซ่งในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นหลักฐานใหม่สำหรับการศึกษาระบบการป้องกัน แผนผัง และหน้าที่เชิงโครงสร้างของป้อมปราการภูเขายุคราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน (ปี 960-1368) รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการจำลองรูปแบบพื้นที่ของเมืองเตี้ยวอวี๋ในช่วงปลายราชวงศ์ซ่งใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง