จีนแบนไอโฟน สงครามเทคฯ รอบใหม่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีต เจอร์นัล เป็นสื่อแห่งแรกที่รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ทางการจีนได้สั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางใช้ “ไอโฟน” ของ “แอปเปิล” ยักษ์เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และโทรศัพท์มือถือแบรนด์ต่างชาติ ในการทำงานหรือนำเข้าไปในสำนักงาน โดยคำสั่งดังกล่าวมาจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานต่าง ๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ // สอดคล้องกับ “รอยเตอร์ส” ที่อ้างแหล่งข่าวระบุว่า หน่วยงานรัฐของจีนหลายแห่งได้เริ่มสั่งพนักงานไม่ให้นำไอโฟนไปทำงาน ซึ่งเป็นการยืนยันรายงานข่าวดังกล่าว
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ทางการจีนเตรียมขยายมาตรการดังกล่าวให้แพร่หลายไปยังรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่รัฐกำกับดูแล ซึ่งแม้จะไม่มีตัวเลขจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจีนที่แน่ชัด แต่ “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ประเมินว่า การแบนดังกล่าวอาจกระทบยอดขายของไอโฟนราว 5-10 ล้านเครื่องต่อปี จากยอดขายรวมที่อยู่ที่ราว 50 ล้านเครื่อง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ในปี 2564 มีแรงงานในเขตเมืองของจีนที่ทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจราว ๆ 56.3 ล้านคน ซึ่งได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าการจ้างงานทั่วไปในเขตเมืองราวร้อยละ 8 หมายความว่ากลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจของแบรนด์ต่าง ๆ ท่ามกลางตลาดสมาร์ทโฟนโลกที่ถึงจุดอิ่มตัวและมีแนวโน้มการเติบโตต่ำ
ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากคำสั่งแบนที่อาจขยายวงกว้างออกไปส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัท “แอปเปิล” ลดลงรวมกันเกือบร้อยละ 7 ภายในเวลา 2 วันหลังมีรายงานข่าวดังกล่าว ส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทหายไป 1.90 แสนล้านดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 2 วัน เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดของ “แอปเปิล” และเป็นฐานการผลิตระดับโลก
นอกจากนี้ ราคาหุ้นของซัพพลายเออร์ที่ป้อนชิ้นส่วนให้กับ “แอปเปิล” ต่างก็ได้รับผลกระทบ โดยราคาหุ้นของ “ควอลคอมม์” หนึ่งในบริษัทสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในจีน ร่วงลงเกือบร้อยละ 7 มากสุดในบรรดาบริษัทซัพพลายเออร์อื่น ๆ เช่นเดียวกับหุ้นของ “ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง” (TSMC) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดของแอปเปิล // “ลาร์แกน พริซิชั่น” (Largan Precision) ผู้ผลิตเลนส์กล้อง // และ “ลักซ์แชร์ พริซิชั่น” ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเอง
นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า มาตรการห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้ไอโฟนในการทำงานแสดงให้เห็นว่า แม้แต่บริษัทที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีน และมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ ก็ยังไม่รอดพ้นจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะศึกแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้ผลัดกันออกมาตรการตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
ที่ผ่านมา ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะตึงเครียดมากขึ้น แต่ “แอปเปิล” ยังคงรักษาการพึ่งพากับจีนใน 2 ด้านสำคัญ นั่นคือบทบาทของจีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตสินค้า และความสำคัญของตลาดจีนในฐานะผู้ซื้อสินค้า ซึ่งระดับการพึ่งพาของ “แอปเปิล” สูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ อาทิ แอมะซอนดอทคอม, HP, ไมโครซอฟท์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์, เดลล์, หรือแม้แต่ซัมซุง
นี่ทำให้มาตรการแบนของจีนน่าจะส่งผลสะเทือนธุรกิจของ “แอปเปิล” อยู่ไม่น้อย จากการที่จีนเป็นตลาดสำคัญ โดยมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท โดยในปี 2565 “แอปเปิล” ทำรายได้ในตลาดจีนได้ราว 7.42 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของรายได้รวมทั้งโลก ส่งผลให้ตลาดจีนที่นับรวมแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากตลาดอเมริกาและยุโรป
เมื่อเทียบเฉพาะ “ไอโฟน” ในปี 2565 “แอปเปิล” จำหน่าย “ไอโฟน” ในจีนได้ราว 48 ล้านเครื่อง คิดเป็นร้อยละ 16.8 ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั้งหมดในจีน // บริษัทวิจัย IDC ประเมินว่า ในปีที่แล้ว แอปเปิลมีส่วนแบ่งร้อยละ 15.3 ในตลาดสมาร์ทโฟนจีน ขึ้นแท่นเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 4
“ไอโฟน” มีสัดส่วนราวร้อยละ 52 ของรายได้ทั้งหมดของ “แอปเปิล” โดยในปีที่แล้วมีมูลค่าราว 2.055 แสนล้านดอลลาร์ จากรายได้รวมทั้งหมดที่อยู่ที่ 3.943 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของ “ไอโฟน” ที่มีส่วนอย่างมากต่อการเติบโตของบริษัท
ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นฐานการผลิตไอโฟนที่สำคัญ โดยมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของไอโฟนทั้งหมดที่จำหน่ายทั่วโลกในไตรมาส 2 ปีนี้ แม้ว่าซัพพลายเออร์ของ “แอปเปิล” จะเริ่มหันไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและลดการพึ่งพาฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว โดยทำเลที่มีศักยภาพ ได้แก่ อินเดียและเวียดนาม แต่ปัจจุบันยังมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับการผลิตในจีน
ในปีที่แล้ว “แอปเปิล” เริ่มผลิตไอโฟน 14 ในอินเดีย เพื่อลดการพึ่งพาจีน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในการกระจายแหล่งผลิตนอกเหนือจากจีน แต่จากข้อมูลของ “บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์” พบว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 8 ปี ในการย้ายกำลังการผลิตเพียงร้อยละ 10 ออกจากจีน จากเดิมที่การผลิตไอโฟนในจีนมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 98
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มีความเป็นไปได้ที่การย้ายฐานการผลิตบางส่วนของ “แอปเปิล” อาจมีส่วนในการตัดสินใจของทางการจีนครั้งล่าสุด เมื่อพิจารณาจากการที่จีนไม่ดำเนินการลักษณะนี้ตอบโต้สหรัฐฯ ที่แบนสมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน
ขณะที่ความสำเร็จของ “หัวเว่ย” ที่เตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G รุ่นใหม่ “Mate 60 โปร” ที่ติดตั้งชิปเซ็ตคิริน 9000S ขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งคิดค้นโดยบริษัทผู้ผลิตชิปจีน “เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล” (SMIC) ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีน้ำหนัก ซึ่งเป็นการเปิดทางให้สมาร์ทโฟนแบรนด์จีนรายนี้กลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเผชิญมรสุมจากมาตรการแบนของสหรัฐฯ จนกระทบต่อธุรกิจอย่างหนัก
“หัวเว่ย” เตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธง 2 รุ่น ได้แก่ Mate 60 โปร และ Mate X5 สมาร์ทโฟนพับได้ ซึ่งถูกมองเป็นความหวังของจีนที่จะแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นก้าวแรกของ “หัวเว่ย” ที่จะกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ในตลาดจีน หลังจากโดน “แอปเปิล” แย่งส่วนแบ่งตลาดไปในช่วงที่เผชิญมาตรการคว่ำบาตรหลายระลอกก่อนหน้านี้
“อีวาน แลม” นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย “เคานเตอร์พอยต์” มองว่า การเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ของ “หัวเว่ย” มีการเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี และไม่ได้เกิดขึ้นแบบกะทันหัน แต่สามารถจัดการความคาดหวังของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้ก่อนงานแถลงข่าวของ “แอปเปิล”
“หมิง ชี กั๋ว” นักวิเคราะห์จาก TF อินเตอร์เนชั่นแนล ซิเคียวริตี้ส์ ประเมินว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” จะได้รับแรงผลักดันจาก Mate 60 โปร ทำให้ยอดขายในปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 65 อยู่ที่ 38 ล้านเครื่อง หากไม่มีความเสี่ยงอื่นเพิ่มเติมอีกนอกเหนือจากที่เกี่ยวกับธุรกิจ
ทั้งนี้ “แอปเปิล” มีกำหนดจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์ล่าสุด “ไอโฟน 15” ในวันที่ 12 กันยายนตามเวลาสหรัฐฯ หรือเข้าสู่วันที่ 13 กันยายนตามเวลาไทย ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ “หัวเว่ย” ก็จะจัดงานเปิดตัว Mate 60 โปร โดยคาดกันว่า ไอโฟนรุ่นใหม่จะใช้ชิปเซ็ต A17 และใช้โปรเซสเซอร์ขนาด 3 นาโนเมตร ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นที่ก้าวหน้ากว่าโปรเซสเซอร์ขนาด 7 นาโนเมตรของ “หัวเว่ย” ราว ๆ 2 ถึง 3 เจนเนอเรชั่น
แต่ “หลิว ถิงเจี่ย” อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารจากมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง มองว่า การเปิดตัวชิป คิริน 9000S ถือเป็นหลักหมุดที่สำคัญสำหรับการพัฒนาในอุตสาหกรรมชิปของจีน เพราะระยะห่างทางเทคโนโลยีที่จีนไล่ตามชาติตะวันตกกำลังหดแคบลงมาเหลือแค่ 3-5 ปีเท่านั้น
คงต้องจับตากันว่า สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ท่ามกลางเดิมพันระหว่าง “แอปเปิล” และ “หัวเว่ย” จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อทั่วโลกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง